งานที่ผ่านไปแล้ว

เวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 13 PEOPLE-CENTERED JUSTICE IN ACTION
28 ตุลาคม 2022 ผ่านทาง Zoom Meeting


PEOPLE-CENTERED JUSTICE IN ACTION

กระบวนการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่ออนาคตแห่งความยุติธรรมที่ยั่งยืน

องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้หลักนิติธรรมเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะใช้ไปถึงปี 2573 โดยมีความสำคัญในลักษณะที่เป็นทั้งเป้าหมายในตัวเอง ภายใต้เป้าหมายที่ 16 “การส่งเสริมสังคมสงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ” และเป็นทั้งปัจจัยสนับสนุนสำหรับเป้าหมายการพัฒนาอื่นๆ ทั้งหมดด้วยเชื่อว่าประเทศใดและสังคมใดที่ขาดการยึดหลักนิติธรรมเป็นพื้นฐานในการพัฒนาแล้ว จะทำให้สาขาการพัฒนาอื่นๆ ไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ความพยายามในการพัฒนาหลักนิติธรรมไม่จำกัดเพียงจะครอบคลุมในเรื่องระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังขยายกรอบการทำงานไปถึงแง่มุมของการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างกว้างขวาง ภายใต้แนวคิดที่ว่าหลักนิติธรรมเป็นสิ่งค้ำประกันสิทธิที่เป็นธรรม สร้างให้เกิดความโปร่งใสและเท่าเทียมในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน สังคมที่มีหลักนิติธรรมจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และในทางกลับกัน สังคมที่ปราศจากหลักนิติธรรมจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

TIJ ได้จัดประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งนักวิชาการและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาและอภิปรายร่วมกันในหัวข้อต่างๆ ที่สัมพันธ์กับหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศไทยและองค์กรระหว่างประเทศ โดยเวทีสาธารณะในครั้งนี้ กำหนดขึ้นภายใต้หัวข้อเรื่อง “People Centered Justice in Action” มุ่งที่จะนำเสนอทิศทางการพัฒนาระบบยุติธรรมและหลักนิติธรรมในสังคมโดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางในการออกแบบให้เกิดบริการด้านความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางที่ประเทศอื่นๆทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ เวทีนี้ได้รวบรวมกรณีศึกษาในไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงผลงานของบรรดาผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรอบรมสำหรับผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (The TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development หรือ RoLD Program) ที่ได้นำเสียงของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาเป็นข้อมูลตั้งต้นสำหรับการทำความเข้าใจปัญหาแบบลงลึกและการขบคิดถึงแนวทางการออกแบบทางเลือกในการแก้ไขปัญหาต่างๆให้ตรงกับเสียงความต้องการของประชาชน โดยนำเครื่องมือใหม่ๆ อาทิ การคิดแบบนักออกแบบ (Design Thinking) และกระบวนการคิดเชิงระบบ (System Thinking) มาใช้ดำเนินการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะต่างจากแนวทางนโยบายสาธารณะในอดีตที่การกำหนดนโยบายมักเริ่มต้นหาทางแก้ปัญหา จากมุมมองอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานเป็นหลัก จนหลายครั้งสร้างให้เกิดช่องว่างในการตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างที่เคยพบเห็นมาในอดีต

หวังว่า เวทีสาธารณะครั้งนี้ จะนำเสนอแนวคิดใหม่และจุดประกายความหวังและความเป็นไปได้จากการคิดใหม่ทำใหม่ผ่านกรณีศึกษาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนที่สนใจในการขับเคลื่อนประเด็นหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ที่มุ่งสร้างเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ที่มิได้จำกัดอยู่ในวงของนักกฎหมายหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่มาจากทุกภาคส่วนในสังคม ในฐานะผู้ที่มีศักยภาพในการสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม หรือ Promoter of Changes ในการนำหลักนิติธรรมมาเป็นพื้นฐานในการออกแบบนโยบาย บริการ และสร้างผลงานสำหรับประชาชนที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน

PEOPLE-CENTERED JUSTICE IN ACTION

การออกแบบกระบวนการยุติธรรมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Centered Justice) เป็นทิศทางสากลที่หลายประเทศให้ความสนใจและมีความพยายามที่จะปรับการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ที่อยู่นอกกระบวนการยุติธรรมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้น (User-friendly Justice) องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้นำเสนอองค์ประกอบสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่

  • การออกแบบและการก่อให้เกิดบริการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Designing and delivering people-centered services)
  • โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อให้เกิดธรรมาภิบาล (Governance enablers and infrastructure)
  • การเสริมสร้างพลังให้กับประชาชน (People empowerment)
  • การวางแผน ติดตาม รวมไปถึงการรับผิดชอบต่อผลของการปฏิบัติงาน (Planning, monitoring, and accountability)

ขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญเพื่อทำความเข้าใจประชาชน เริ่มต้นจากการสำรวจความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการยุติธรรม (Justice Needs Survey) ไปจนถึงการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการยุติธรรม (Technology for Justice) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น

ในปี 2565 นี้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรอบรมสำหรับผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา หรือ “RoLD2022 : Beyond Leadership” ได้ดำเนินโครงการปฏิรูปหลักนิติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม (RoLD in Action) เพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมในหลายมิติ โดยให้ความสำคัญกับการรับฟังและนำเสียงของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาประกอบการวิเคราะห์และออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาในสังคมทั้งในด้านการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ต้นแบบ การออกแบบโปรแกรมเพื่อเสริมสร้างความพร้อมกลับคืนสู่สังคมอย่างยั่งยืนให้กับผู้เตรียมพ้นโทษ และการพัฒนาห้องปฏิบัติการเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างเป็นระบบ

SMART POLICE

โครงการนำร่องพัฒนาระบบกล้อง CCTV ด้วยเทคโนโลยี Machine Learning เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่ฉะเชิงเทรา

โครงการนำร่องพัฒนาระบบ CCTV ด้วยเทคโนโลยี Machine Learning เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่ฉะเชิงเทราใช้พื้นที่ สภ.แสนภูดาษ จัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงานและเชื่อมโยงฐานข้อมูลกล้องวงจรปิดจากทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยการนำเทคโนโลยี Machine Learning มาฝึกฝนเพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูลบนเครือข่ายกล้องวงจรปิด ตรวจจับผู้ต้องสงสัย ยานพาหนะต้องสงสัย อาวุธ และเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะแจ้งเตือนผ่านระบบเฝ้าระวัง (SOS) ไปยังห้องควบคุม ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถไปถึงสถานที่เกิดเหตุได้รวดเร็วขึ้นและติดตามจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้อย่างทันท่วงที โดยดำเนินการภายใต้ความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคชุมชน ให้มีการเชื่อมโยงระบบกล้องวงจรปิด การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ดำเนินการผ่านกระบวนการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วยการเสวนากลุ่มย่อยและการรับฟังความเห็นสาธารณะ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ตลอดจนเสริมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และยั่งยืน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

NEW ME : NEW OPPORTUNITY

เปิดพื้นที่แห่งโอกาส

มุ่งเน้นต่อยอดการทำงานของโอกาสสถาน ภายใต้โครงการจัดตั้งศูนย์เตรียมการปลดปล่อย เรือนจำชั่วคราวกลางเวียง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพัฒนากิจกรรมและกระบวนการนำร่องของศูนย์เตรียมพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขังหญิง (Re-entry Center) ให้มีความครบวงจรมากขึ้น โดยจากการนำเครื่องมือ Design Thinking เข้ามาทำการศึกษาและรับฟังความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ที่เตรียมพ้นโทษ พบข้อท้าทายในการกลับสู่สังคมหลายประการ จึงได้ลงพื้นที่และออกแบบกิจกรรมที่นำเสนอเครื่องมือและกระบวนการที่เน้นการพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ต้องขังหญิงแบบเฉพาะ รายบุคคล ทั้งด้านการฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจ การรู้จักและเข้าใจเส้นทางของตนเองเพื่อออกแบบชีวิตและอาชีพ การจัดให้คำปรึกษาการวางแผนการเงินและความเข้าใจด้านดิจิทัล ตลอดจนการสร้างระบบนิเวศน์ในการให้การสนับสนุนด้านการจ้างงานด้วยการนำเสนอสายวิชาชีพเพิ่มเติมและจัดโครงการนำร่องด้านการจ้างงานจากผู้ประกอบการชั้นนำ เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้าใจร่วมกับภาคสังคม เอกชน และธุรกิจ อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้พ้นโทษและเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการกระทำผิดซ้ำอย่างยั่งยืน

POLICY INNOVATION LAB FOR SUSTAINABLE WASTE MANAGEMENT

ห้องทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบาย : กรณีศึกษาการจัดการขยะกรุงเทพอย่างยั่งยืน

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างภาวะผู้นำในกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ดำเนินโครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเชิงระบบเพื่อระบุจุดคานดีดคานงัดในโครงสร้างของระบบงาน และประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อทำความเข้าใจปัญหาจากมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ทำให้สังเคราะห์บทเรียนได้ว่า คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนโยบายสาธารณะที่น่าจะสามารถจัดการขยะในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้อย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงประชาชนเป็นศูนย์กลาง ได้แก่ 1) มุ่งจัดการปัญหาในกระบวนการระยะต้นน้ำ 2) สร้างแรงจูงใจให้ผู้มีส่วนได้เสียเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาว 3) ใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติตามนโยบายในทุกบริบททำให้ขยายผลได้ และ 4) ไม่สร้างภาระให้ผู้มีส่วนได้เสียและไม่ก่อปัญหาอื่นขึ้นมาแทน จากข้อสรุปดังกล่าวจึงได้ออกแบบต้นแบบ (prototypes) ของนวัตกรรมเชิงนโยบาย ซึ่งสามารถนำไปทดสอบและขยายผลร่วมกับผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะในพื้นที่กรุงเทพมหานครในระยะต่อไป

ลงทะเบียน