งานที่ผ่านไปแล้ว

มุ่งมั่นฟันฝ่าอนาคต: กำหนดนิยามความอยุติธรรมบนโลกดิจิทัล
17 มิถุนายน 2022 Zoom Meeting

เวทีสาธารณะนานาชาติครั้งที่ 11 ว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

มุ่งมั่นฟันฝ่าอนาคต: กำหนดนิยามความอยุติธรรมบนโลกดิจิทัล”

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2565 เวลา 15:00 – 20:45 น. (GMT +7 เวลาประเทศไทย)

อวตารของเราบนสื่อสังคมออนไลน์ในเมตาเวิร์สหรือจักรวาลนฤมิต รายงานเกี่ยวกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นล่าสุดที่ควบคุมโดยใช้ข้อมูลปริมาณมหาศาลเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันของเรา ผ่านทางสมาร์ทโฟนที่ซื้อด้วยสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) และตรวจสอบผ่านระบบบล็อกเชน (blockchain) คำกล่าวที่ว่าโลกดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรานั้นฟังจำเจ แต่กระนั้น การเปลี่ยนแปลงข้อมูลสู่ระบบดิจิทัลที่ไร้พรมแดนก็สะดวก รวดเร็ว และแทรกซึมเข้ามาในทุกมิติของชีวิตและนำพาเราเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (disruptive transformation) ที่ขับเคลื่อนโดยกระบวนการเปลี่ยนแปลงข้อมูลสู่ระบบดิจิทัลอาจรุนแรงและยากจะรับมือ การตอบสนองอย่างตื่นตระหนกดูจะเป็นเรื่องฉาบฉวย ไม่เท่าทันหรืออาจไม่ใช่วิธีที่ดีนักเมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงที่เราเผชิญอยู่ ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีนัยยะใดในด้านหลักจริยธรรม? การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกระทบใดต่อคติดั้งเดิมเกี่ยวกับความเสมอภาค (equity) ความเท่าเทียม (equality) ความเที่ยงธรรม (fairness) และความยุติธรรม (justice) ทั้งในด้านการเข้าถึงทรัพยากรโอกาสและด้านอื่นๆ?

เราต้องเริ่มตั้งคำถามใหม่ๆ และทบทวนคำถามต่างๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกันอย่างตรงประเด็น ระเบียบโลกใหม่ (new world order) เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่อาจยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน แต่ต้องตระหนักถึงประเด็นด้านความไม่เท่าเทียม ไม่เสมอภาค หรือความไม่ยุติธรรมต่างๆในยุคดิจิทัล หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ความอยุติธรรมบนโลกดิจิทัล” และมุ่งศึกษาและจัดการกับประเด็นนี้อย่างจริงจังโดยเป็นการมองไปยังปัญหาที่จะเกิดในอนาคต

ร่วมนิยาม: อารัมภบท นิยามและแนวโน้ม

เช่นเดียวกับการนิยามแนวคิดใดๆ ที่ใหม่และซับซ้อน ขั้นตอนแรกคือการเฟ้นหาคำศัพท์กลาง (common vocabulary) ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องและเข้าใจร่วมกัน “ความอยุติธรรมบนโลกดิจิทัล” หมายถึงอะไร? องค์ประกอบ ลักษณะและขอบเขตของความอยุติธรรมบนโลกดิจิทัลคืออะไร? ความอยุติธรรมดังกล่าวปรากฏในรูปแบบใดได้บ้าง? ใครมีแนวโน้มที่จะเป็น “ผู้ละเมิด” และ “เหยื่อ” ของความอยุติธรรมดังกล่าว? ใครมีหน้าที่กำหนดบทลงโทษและการเยียวยา?

ถึงแม้ว่าการหาคำตอบสำหรับประเด็นคำถามข้างต้นจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็อาจจะเริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ ด้วยการจินตนาการถึงความเสี่ยงและความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในโลกเสมือน เพราะเราจะสามารถระบุตัวปัญหาพร้อมการพัฒนาทางกระบวนการคิดเพื่อนำไปสู่แนวทางแก้ไขต่างๆ ได้ ซึ่งต้องเริ่มจากการได้ข้อสรุปเกี่ยวกับนิยามของความอยุติธรรมบนโลกดิจิทัลและคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน รวมถึงภาพของอนาคตในอุดมคติที่เราอยากจะไปให้ถึง ซึ่งกระบวนการนี้ควรสามารถรองรับแนวโน้มในอนาคตด้วย นั่นคือไม่เพียงรับมือกับ “ความอยุติธรรมบนโลกดิจิทัล” ที่มีอยู่แล้วเท่านั้น แต่ต้องสามารถคาดการณ์และหากเป็นไปได้ สามารถป้องกันความอยุติธรรมที่อาจอุบัติขึ้นในอนาคตของโลกดิจิทัลด้วย

ร่วมค้นหา: นำเสนอแนวคิดจากการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์กรณีศึกษา

แนวคิดและสิ่งใหม่ๆ มักงดงามและน่าตื่นเต้นเสมอ แต่ในขณะเดียวกันอาจทำให้เกิดความหลงไหลและไขว้เขวเกี่ยวกับประโยชน์ที่ยุคดิจิทัลอาจหยิบยื่นให้ ขณะที่เราหลงไปกับความตื่นเต้นนั้น เท่ากับเราเสี่ยงกับการหลงลืมเป้าหมายเริ่มต้นของเราด้วย ในฐานะนักคิดเพื่ออนาคต (Futures Thinker) เรามีสิทธิ์ที่จะไม่ปล่อยให้อนาคตกำหนดชะตาของเรา แต่สามารถสร้างและกำหนดอนาคตในรูปแบบที่ก่อคุณูปการต่อสังคมได้ แม้คำว่า “คุณูปการ” อาจมีนิยามและการตีความที่แตกต่างกันไป การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อฝึกการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของเหตุและผลแห่งอนาคต (The Problem Lab Workshop) ที่จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) เป็นการฝึกให้เกิดกระบวนการดังกล่าว โดยหลังจากการฝึกอบรมฯ ผู้เข้าร่วมจะนำเสนอสิ่งที่ค้นพบ (findings) จากกิจกรรมการวิเคราะห์สถานการณ์อนาคตในกลุ่ม และนำมาฉายภาพต่อเวทีสาธารณะแห่งนี้เพื่อแบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับอนาคตที่อาจช่วยสร้างการตะหนักคิดและเกิดประโยชน์ต่อไปได้

ร่วมออกแบบ: ระดมสมองเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับระบบกำกับในยุคดิจิทัล

ในขั้นนี้ ผู้เข้าร่วมการเสวนาฯ จะมีภาพคร่าวๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ความอยุติธรรมที่พวกเขาอาจประสบในโลกคู่ขนานหรือโลกแห่งอนาคต แม้จะเป็นเพียงฉากทัศน์คร่าวๆ แต่พวกเราจะได้รับฟังหลักการสำคัญซึ่งจะช่วยในการทบทวนและออกแบบระบบกำกับในยุคดิจิทัล ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เข้าร่วมฟังเวทีสาธารณะในครั้งนี้ยังสามารถส่งนิยามความอยุติธรรมบนโลกดิจิทัลให้แก่ TIJ ซึ่งจะได้รวบรวมแนวคิดต่างๆ เหล่านี้เพื่อจุดประเด็นการพูดคุยสำหรับการเสวนาครั้งต่อไป แนวคิดที่รวบรวมจากการนำเสนอและมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจะกอปรเป็นนิยามเบื้องต้นซึ่งจะมีการทบทวนและพัฒนาต่อยอดในการเสวนาฯ ครั้งต่อไป

บทสรุป

การเสวนาและการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้รวบรวมวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา โดยวิทยากรจะนำเสนอแนวคิดทั้งเชิงทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อช่วยสรรสร้างโลกดิจิทัลในอุดมคติที่เปี่ยมด้วยความเสมอภาค ความเท่าเทียม ความเที่ยงธรรมและความยุติธรรม ซึ่งเราต่างแสวงหา

การเสวนาฯ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำหลักการที่ว่าความยุติธรรมเป็นสิทธิของทุกคนอย่างเท่าเทียม ความยุติธรรมไม่ควรถูกจำกัดอยู่เพียงปฏิสัมพันธ์ในโลกแห่งความจริงหรือที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น (real or tangible interactions) เพราะเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมเสมือนมีมากขึ้น เราจำต้องตระหนักและให้คุณค่ากับแนวคิดที่ว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งสากลทั้งในเอกภพและจักรวาลนฤมิต ในทำนองเดียวกับแนวคิดที่ว่าความยุติธรรมสามารถเกิดทั่วจักรวาลนฤมิต แนวคิดด้านความอยุติธรรมก็สามารถเกิดและกระจายไปทั่วเช่นกัน แนวคิดเรื่องความยุติธรรมในยุคดิจิทัลแห่งอนาคตนี้ยังค่อนข้างเป็นสิ่งใหม่ และเรากำลังขีดเขียนอนาคตบนกระดานที่แทบจะว่างเปล่า เวทีสาธารณะแห่งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการให้พวกเรามาร่วมกันกำหนดนิยาม แสวงหาทางออกและออกแบบอนาคตของโลกแห่งดิจิทัลร่วมกัน และนี่เป็นเอกสิทธิที่หาได้ยากในโลกแห่งความจริง