หลักนิติธรรม (Rule of law) เป็นหลักการพื้นฐานของสังคมที่ปกครองภายใต้กฎหมายที่นานาอารยะประเทศยึดถือไว้อย่างเคร่งครัด สังคมที่มีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งจะถูกสะท้อนออกมาผ่านการทำหน้าที่ของรัฐและการมีปฏิสัมพันธ์ของประชาชนที่เป็นไปตามกฎหมาย โดยที่กฎหมายมีที่มาจากกระบวนการที่ถูกต้องชอบธรรม มีกลไกการใช้บังคับที่ชัดเจนและเท่าเทียม ที่สำคัญคือทำให้เกิดความแน่นอนและคาดเดาผลได้ สำหรับประเทศไทยได้รับแนวคิดหลักนิติธรรมเข้ามาอย่างยาวนาน จนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ฉบับประชาชนขึ้น ซึ่งมีการบัญญัติหมวดว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน นำไปสู่การสร้างกลไกใหม่ๆ เพื่อตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งมีการระบุถึงหลักนิติธรรมไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในหลายมาตรา 

ปัจจุบัน หลักนิติธรรมนับเป็นหลักการที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ดังที่ได้ถูกรับรองให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) โดยเป็นทั้งเป้าหมายในตัวเอง (เป้าหมายที่ 16 Peace, Justice, and Strong Institution) และเป็นปัจจัยเอื้อที่จำเป็นต่อการทำให้เป้าหมายอื่นๆ บรรลุผลสำเร็จ นอกจากนั้น หลักนิติธรรมยังมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะปัจจุบันการวัดความสามารถทางการแข่งขันผ่านการจัดอันดับของสถาบันระดับโลก เช่น IMD World Competitiveness Index มิได้พิจารณาเพียงแค่ตัวเลขด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ แต่ยังครอบคลุมมิติเสถียรภาพทางการเมือง ประสิทธิภาพของสถาบันหลักๆ ของประเทศ ประสิทธิภาพของรัฐบาล รวมไปถึงมิติความเปราะบางเชิงสังคม ประเด็นเหล่านี้จึงมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาตินั้น ดังนั้น ความตั้งใจของประเทศไทยที่จะก้าวพ้นกับดักของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (Middle income trap) จึงต้องให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูหลักนิติธรรม ดังที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยการนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้ประกาศวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของทั้งคนไทยและต่างชาติด้วยการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ มีนิติธรรม และความโปร่งใส

นอกจากนั้น การส่งเสริมหลักนิติธรรมให้เข้มแข็งจะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ตามที่รัฐบาลไทยแสดงเจตจำนงในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567 เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในเวทีโลกมากขึ้น โดยประเทศไทยจะต้องได้รับการประเมินจากหลักเกณฑ์ Framework for the Consideration of Prospective Members ครอบคลุมมิติการปรับปรุงกฎหมาย การเปิดเสรีการลงทุน สิทธิแรงงาน เสรีภาพสื่อมวลชน ภาพลักษณ์ต่อปัญหาคอร์รัปชัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาระบบราชการ การบังคับใช้กฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า โดยประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นผลลัพธ์ของสังคมที่มีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง 

อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินสถานการณ์หลักนิติธรรมในประเทศไทย ผ่านคะแนน “ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม” หรือ Rule of Law Index ปี 2567 ดำเนินการสำรวจโดย The World Justice Project ซึ่งวัดจากการรับรู้ของสาธารณชน รวมถึงประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อสถานการณ์ด้านหลักนิติธรรมในประเทศนั้นๆ พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 78 ของโลก จาก 142 ประเทศ ได้คะแนน 0.50 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าคะแนนค่าเฉลี่ยโลกที่มีค่าคะแนน 0.55 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีค่าคะแนน 0.59 สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีอีกหลายมิติที่ต้องเร่งพัฒนาให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นทั่วโลก อาทิ การป้องกันการคอร์รัปชั่น ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา หรือความโปร่งใสของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยที่ลําพังเพียงแค่รัฐบาลไม่อาจที่จะขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะหลักนิติธรรมไม่ใช่เพียงเรื่องของนักกฎหมาย แต่จะต้องอาศัยทั้งองคาพยพของสังคม พร้อมทั้งบริบทสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงเล็งเห็นความสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบสังคมที่มีระบบยุติธรรมที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นรากฐานของหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง จึงเป็นที่มาของการจัดงาน Thailand Rule of Law Fair งานแฟร์เพื่อความแฟร์ หัวข้อ “Investing in the Rule of Law for a Sustainable Future” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมอง นำเสนอแนวคิด การวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจปัญหาความยุติธรรมในระดับโครงสร้างที่ลงลึกและรอบด้าน รวมถึงการจัดกิจกรรมสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่และทำให้หลักนิติธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น และมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่รวบรวมเครือข่ายคนทำงานและผู้มีอุดมการณ์มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย