แนวคิด

  • บทความสรุปการประชุมเวทีสาธารณะด้านหลักนิติธรรม คลิกที่นี่
  • เอกสารประกอบการบรรยายและวิดีโอบันทึกการประชุม คลิกที่นี่
  • ตัวแปรที่ใช้จัดทำดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม ปี 2566 คลิกที่นี่

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) เล็งเห็นถึงความสำคัญของหลักนิติธรรม (The rule of law) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของสังคมที่ปกครองภายใต้กฎหมายที่นานาอารยะประเทศยึดถือไว้อย่างเคร่งครัด โดยประเทศไทยได้รับแนวคิดหลักนิติธรรมเข้ามาอย่างยาวนาน จนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ฉบับประชาชนขึ้น ซึ่งมีการบัญญัติหมวดว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน นำไปสู่การสร้างกลไกใหม่ๆ เพื่อตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งมีการระบุถึงหลักนิติธรรมไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในหลายมาตรานอกจากนั้น หลักนิติธรรมได้ถูกรับรองไว้ว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาระดับโลก (SDGs) ในเป้าหมายที่ 16 ซึ่งประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องร่วมบรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้ได้ในปี พ.ศ. 2573

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของหลักนิติธรรม คือ การมีสังคมที่สงบสุขและประชาชนเคารพกฎหมาย รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกจึงค้นหาเครื่องมือในการวัดผลลัพธ์ของการทำงานเพื่อให้เกิดการวางแผนในการพัฒนาและติดตามผลการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง โดยหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of law index) ซึ่งคิดค้นโดย The World Justice Project (WJP) องค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดและประเมินสถานการณ์ของหลักนิติธรรมในแต่ละประเทศ เพื่อนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักนิติธรรมที่เป็นรูปธรรม

จากผลการประเมินสถานการณ์หลักนิติธรรมในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2566 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 82 ของโลก จาก 142 ประเทศ ได้คะแนน 0.49 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน ซึ่งถดถอยลงจากปี พ.ศ. 2565 ที่ได้อันดับที่ 80 มีคะแนน 0.50 คะแนน สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีอีกหลายมิติที่ต้องเร่งพัฒนาให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นทั่วโลก อาทิ การป้องกันการคอร์รัปชั่น ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา หรือความโปร่งใสของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยที่มีความท้าทายอย่างยิ่งที่ลำพังเพียงแค่รัฐบาลไม่อาจที่จะขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิผล แต่ต้องอาศัยทั้งองคาพยพของสังคม พร้อมทั้งบริบทสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงอาจกล่าวได้ว่าหลักนิติธรรมไม่ได้เป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องเฉพาะในขอบเขตของนักกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นแนวคิดรากฐานของสังคมที่เชื่อมโยงไปยังภาคส่วนอื่นๆ กระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของปัจเจกบุคคลและการพัฒนาประเทศในทุกมิติ อาทิ ความมั่นใจในการลงทุนของต่างชาติ เศรษฐกิจตกต่ำ ความเหลื่อมล้ำและความปลอดภัยในสังคม คุณภาพการใช้ชีวิต การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านด้านกฎหมาย การเมือง และการปกครอง ที่เกิดความเห็นต่าง การแบ่งแยกทางความคิด และการไม่เคารพอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมทั้งข้อกฎหมายที่ไม่ทันต่อสถานการณ์บ้านเมืองจนกลายเป็นข้อท้าทายของประชาชนในการเข้าถึงบริการสาธารณะและได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในประเทศไทย

ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐบาลปัจจุบัน โดยการนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จึงได้ประกาศให้การฟื้นฟูหลักนิติธรรมเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน โดยเล็งเห็นว่าการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สำคัญของประเทศที่ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุดแต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้น เพื่อให้ตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าว สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงร่วมกับ The World Justice Project (WJP) จัดเวทีสาธารณะด้านหลักนิติธรรม (Rule of Law Forum) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหลักนิติธรรมในฐานะรากฐานของโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคม รวมไปถึงความเชื่อมโยงของการมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งต่อความมั่นใจของนักลงทุนและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเริ่มต้นของกระบวนการขับเคลื่อนที่เปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มสามารถระดมสมองและเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟู ออกแบบและแก้ไขหลักนิติธรรม ควบคู่ไปกับการสะท้อนความต้องการ อนาคต และความฝันของทุกภาคส่วนที่จะสามารถส่งต่อและบรรจุไปยังการร่างรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกติกาสูงสุดในการอยู่ร่วมกันของสังคมให้มีความเป็นประชาธิปไตยและสอดคล้องกับหลักนิติธรรมที่มากขึ้นได้ต่อไป


กลับสู่ด้านบน