นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยุติธรรม (Innovation and Technology for Justice)
11 มกราคม 2019 โรงแรมอโนมาแกรนด์ กรุงเทพ
การที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้หลักนิติธรรมเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะใช้ไปถึงปี 2573 นั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในทุกประเทศตระหนักถึงบทบาทของตนในการตรวจสอบการทำงานของผู้นำประเทศและเจ้าหน้าที่รัฐให้ยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง การที่รัฐบาลของประเทศตรากฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งนั้น สะท้อนถึงการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ ซึ่งหากประชาชนสามารถตรวจสอบกฎหมายและที่มาของกฎหมายได้อย่างถ้วนถี่แล้ว ก็จะสามารถรู้ได้ว่าผู้มีอำนาจนั้นตัดสินใจโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริงหรือไม่
เวทีสาธารณะนานาชาติที่จะจัดขึ้นในเดือนมกราคม 2562 นี้ เป็นเวทีที่ TIJ จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 7 โดยในแต่ละครั้งมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้กำหนดนโยบายจากหลากหลายภาคส่วน มาร่วมพูดคุยและเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการและประเด็นปัญหาของการปรับใช้หลักนิติธรรมในระดับภูมิภาค รวมถึงความสำเร็จและข้อเรียนรู้จากประสบการณ์การนำหลักนิติธรรมไปประยุกต์ใช้ โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมได้มองภาพประเด็นต่างๆ ในสังคมได้ชัดเจนขึ้นผ่านมุมมองของหลักนิติธรรม
ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ทั้งสำหรับรัฐบาล ภาคเอกชน ประชาสังคม รวมถึงตัวบทกฎหมาย และแนวทางการบังคับใช้กฎหมายที่ต้องปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การบรรยายพิเศษในเวทีสาธารณะนี้จะชี้ให้เห็นบทบาทสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักนิติธรรมและการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ความสมดุลระหว่างระบบเศรษฐกิจที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวนำกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมถึงความสัมพันธ์ที่แยกกันไม่ขาดระหว่างกฎหมายกับเทคโนโลยี
หลักนิติธรรม ในฐานะเครื่องมือสำคัญสำหรับทั้งการสร้างเสถียรภาพและสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม เป็นหัวใจสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลักนิติธรรมทำให้การสร้างข้อตกลงระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคมเป็นไปอย่างสันติและเห็นผล กฎหมายนอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ผู้กำหนดนโยบายใช้ในการบริการสาธารณชน ยังเป็นสิ่งที่จะนำพาให้สมาชิกในสังคมหลุดพ้นจากสถานการณืความไม่เท่าเทียม และการถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง
การจัดการกับปัญหาการพัฒนาที่มีความซับซ้อน เช่น ภัยคุกคามไซเบอร์ ความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้าง ข้อจำกัดในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการทุจริตคอรัปชั่น ในภาวะที่สภาพสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานั้น ไม่เพียงต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในประเทศ แต่ยังต้องเน้นการใช้วิธีการใหม่ๆ เพื่อให้หลักนิติธรรมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด การจะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยพลังของสมาชิกทุกฝ่ายในสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่นักกฎหมายและผู้บังคับใช้ และยังต้องอาศัยพลังสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนโลกในยุคศตวรรษที่ 21 นั่นคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการออกแบบนโยบาย หากใช้เครื่องมือทั้งสองอย่างนี้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาเชิงโครงสร้างจะเกิดขึ้นได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และยั่งยืนยิ่งขึ้น
เวทีสาธารณะนานาชาติของ TIJ ในปี 2562 จะประกอบด้วยการเสวนาทางวิชาการ ซึ่งผู้ร่วมการเสวนาได้แก่ คณาจารย์ในเครือข่าย Institute of Global Law and Policy (IGLP) ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศและระดับภูมิภาค ตลอดจนสมาชิกเครือข่าย TIJ Fellows ซึ่งเคยเป็นผู้เข้าร่วมหลักสูตรอบรมสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมและนโยบาย โดยในเนื้อหาในการเสวนาทุกช่วงจะกล่าวถึงหลักนิติธรรมในฐานะปัญหาหนึ่งที่สำคัญในด้านเศรษฐกิจและสังคม
การเสวนาช่วงแรก “Regional Experiences” จะนำโดยตัวแทนของผู้เข้าร่วมหลักสูตรอบรมสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมและนโยบาย ซึ่งเป็นกิจกรรมสุดท้ายของการอบรม โดยช่วงนี้จะเปิดโอกาสให้ตัวแทนอบรมได้นำเสนอวิธีการใช้หลักนิติธรรมเพื่อแก้ปัญหาด้านนโยบายสาธารณะในบริบทของแต่ละภูมิภาค รวมถึงการวิเคราะห์บทเรียนที่ได้มาระหว่างการอบรม
ช่วงที่สองของการเสวนา “Improving Equality and Justice through Innovation and Technology” จะนำการเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาค และคณาจารย์ในเครือข่ายของ IGLP โดยจะพูดคุยถึงบทบาทของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการออกแบบนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในระบบเศรษฐกิจและสังคม ความไม่เท่าเทียมทางเพศ และโอกาสเข้าถึงความยุติธรรม ผู้ร่วมเสวนาจะนำเสนอว่าการออกแบบวิธีการ และการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่คำนึงถึงคนเป็นศูนย์กลาง และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนนั้น จะช่วยให้กลุ่มเปราะบางและคนที่ถูกกีดกันในสังคมมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
การเสวนาช่วงที่สาม “Using Technology to Respond to Criminal Challenges in a Borderless World” นำโดยผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาค และคณาจารย์ในเครือข่ายของ IGLP การเสวนานี้จะเน้นให้เห็นว่าประเทศและภูมิภาคที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดกว้าง จะต้องเผชิญกับการไหลเข้าออกของสินค้าอย่างเสรี และความจำเป็นต้องในการพึ่งพาระบบจัดการบนโครงข่ายดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น อันนำมาซึ่งปัญหาด้าน ไซเบอร์ ทั้งจำนวนที่เพิ่มขึ้น และรูปแบบของปัญหาที่หลากหลายขึ้นด้วย ซึ่งปัญหาดังกล่าวแทรกซึมเข้ามาสู่ชีวิตของคนในสังคม และเป็นภัยต่อความมั่นคงของสถาบันต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ผู้ร่วมเสวนาจะแสดงให้เห็นว่า การร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นองค์รวม จะเป็นรากฐานที่แข็งแรงในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอีกด้วย