งานที่ผ่านไปแล้ว

แนวทางใหม่เพื่อสร้างสรรค์ความเป็นธรรมด้วยหลักนิติธรรม (Envisioning Transformative Social Justice)
24 กรกฎาคม 2018 โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร

ในปี ค.ศ. 2015 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติลงมติยอมรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) 17 ข้อ เป้าหมายดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า “จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง”และเน้นย้ำให้เห็นว่าการพัฒนาแบบองค์รวมเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จากเป้าหมายทั้ง 17 ข้อดังกล่าว เป้าหมายที่ 16 ยอมรับว่าหลักนิติธรรมเป็นรากฐานและเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ในการเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้เกิดหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยนั้น สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะสถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Programme Network Institute – PNI) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มิได้จำกัดอยู่ในวงของนักกฎหมายหรือผู้บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอื่นๆ ในฐานะที่เป็นผู้ใช้กฎหมายหรือได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายด้วย การสร้างเครือข่ายดังกล่าวถือเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้หรือแหล่งรวมกลุ่มคนผู้มีเป้าประสงค์ร่วมกันในการส่งเสริมหลักนิติธรรมในแง่มุมต่างๆ ตามความถนัดและพื้นฐานของผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่าน เพื่อให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมและได้รับการพัฒนาในมิติต่างๆ อย่างครอบคลุม

ด้วยเหตุนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับ Institute for Global Law and Policy (IGLP) แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จัดให้มีหลักสูตรสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (Rule of Law and Development Program – RoLD Program) ตั้งแต่ปี 2017 เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายของผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคม ในปี 2017 เครือข่าย RoLD ได้ริเริ่มโครงการนำร่อง 3 โครงการที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับการจัดการเชิงนโยบายและแก้ปัญหาสังคมด้วยแนวทางและกระบวนการใหม่ๆ ดังนี้

(1) กรณีศึกษาจังหวัดน่าน เพื่อการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การส่งเสริมให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืนด้วยบทบาทและหน้าที่ที่เหมาะสม จากการศึกษาของกลุ่ม RoLD Fellow พบว่า แนวทางการทรงงานและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งยึดถือหลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหานี้ได้ โดยการทำความเข้าใจ และประมวลศาสตร์พระราชาออกมาเป็นรายงานเรื่อง ถอดบทเรียนการใช้หลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของในหลวงรัชกาลที่ 9: ข้อเสนอ 4 ขั้นหลักปฏิบัติเพื่อคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนในกรณีป่าน่าน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันได้ทั่วไป โดยต่อมา ข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รับการผลักดันในระดับนโยบายจนนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแล รวมทั้งคณะกรรมการดำเนินการพื้นที่จังหวัดน่าน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 48/2561 เรื่องการบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน: พื้นที่จังหวัดน่าน และใช้เป็นแนวคิดในการผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติป่าชุมชน ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วในปัจจุบัน

(2) การศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงและแนวคิดหนี้ที่เป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมให้สังคมเกิดความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง โดยกลุ่ม RoLD Fellow ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อที่เป็นธรรมของผู้มีรายได้น้อย มุ่งสู่แนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ทีมบรรณาธิการข่าวของ ThaiPBS ยังได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวไปทำสารคดีสั้นในชุดรายการ The Exits เพื่อสื่อสารให้กับสาธารณะชน รวมไปถึงผู้กำหนดนโยบายในภาครัฐ ให้ทราบถึงสถานการณ์ปัจจุบันของสภาพปัญหาดังกล่าว รวมทั้งให้ความสำคัญกับมาตรการแก้ไขปัญหา เยียวยา รวมไปถึงมาตรการเชิงป้องกันที่สร้างความเข้าใจด้านการวางแผนการเงินและความรู้ด้านกฎหมาย (Legal and Financial Literacy) แก่กลุ่มประชาชนเป้าหมายในวงกว้าง

(3) การศึกษาแนวคิด “สนามทดลอง” (Regulatory Sandbox) สำหรับการจัดการธุรกิจและบริการที่พึ่งพาเทคโนโลยียุคใหม่ในการแข่งขันอย่างมีความยั่งยืน โดยได้ระดมความคิดเพื่อประยุกต์ใช้หลักนิติธรรมในการจัดการเทคโนโลยีก้าวกระโดด เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอิสระในการสร้างสรรค์นวัตกรรมในขณะที่มีการกำกับดูแลที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายไปพร้อมกัน

เพื่อสืบสานปณิธานในการส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ผู้ผ่านหลักสูตร RoLD ปี 2018 จะได้ร่วมนำประเด็นสังคมของประเทศไทยมาวิเคราะห์ผ่านมุมมองของหลักนิติธรรมอีกครั้งในเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “แนวทางใหม่เพื่อสร้างสรรค์ความเป็นธรรมด้วยหลักนิติธรรม” (TIJ Public Forum on the Rule of Law and Sustainable Development: Envisioning Transformative Social Justice) โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัญหาอย่างเป็นระบบและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคมไทยในประเด็นดังต่อไปนี้

(1) การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาในสังคมไทย

หลักนิติธรรม (Rule of Law) ถูกยอมรับทั้งในระดับภายในประเทศและสหประชาชาติว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้สังคมเกิดความสงบสุขและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสร้างหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นจริงในสังคมได้ สิ่งที่จำเป็นต้องถูกส่งเสริมควบคู่ไปกับกฎหมายนั้นคือการส่งเสริมให้ “คน” ในสังคมมีวัฒนธรรมที่เคารพกติกา เพราะคนในสังคมจะเคารพกฎหมายหรือไม่มิได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ตัวบทกฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับความยินยอมพร้อมใจที่จะเคารพกฎหมายของคนในสังคมด้วย ทว่า ความยินยอมพร้อมใจดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาได้ถูกแทรกซึมอยู่ในสังคมนั้น ในขณะเดียวกัน การมีหลักนิติธรรมที่ดีก็ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาได้ ดังนั้น การส่งเสริมหลักนิติธรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องมุ่งเน้นที่ปัจจัยทางโครงสร้างและสาระของกฎหมายและปัจจัยมนุษย์ไปพร้อมๆ กัน เพราะทั้งสองสิ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปย่อมกระทบต่อดุลยภาพของการพัฒนา ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในที่สุด

  (2) การเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมเพื่อฟื้นฟูผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคม

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ซึ่งปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากที่มาตรการการฟื้นฟูและคืนผู้ต้องขังกลับสู่สังคมไม่ได้คำนึงถึงความต้องการและใช้ผู้ต้องขังเป็นศูนย์กลางในการออกแบบนโยบาย หากไม่มีกระบวนการแทรกแซงก่อนและหลังการปล่อยตัวผู้ต้องขังอย่างมีประสิทธิภาพที่ทุกภาคส่วนของสังคมให้ความร่วมมือ ย่อมเป็นการยากที่อัตราการกระทำความผิดซ้ำในภาพรวมจะลดลง  และยังจะส่งผลต่อเนื่องและขยายวงไปถึงสภาวะที่คนในสังคมเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยอันจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆในสังคมควรต้องยึดถือหลักนิติธรรมและการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติภารกิจของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นพัฒนามาตรการการฟื้นฟูและระบบรองรับอดีตผู้ต้องขังให้กลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี โดยมุ่งลดวัฒนธรรมการตีตราผู้เคยต้องโทษ ตลอดจนออกแบบความร่วมมือแบบ Private-Public Partnership (PPP) ที่เน้นย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมในการแก้ไขและให้โอกาสผู้ที่เคยก้าวพลาด โดยหนึ่งในกลไกที่จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือดังกล่าวคือการสร้างความตระหนักรู้ในสังคมผ่านการสื่อสารที่จะนำเสนอมุมมองเชิงบวกให้เห็นความสำเร็จของอดีตผู้เคยก้าวพลาด เพื่อเปลี่ยนทัศนคติและเชิญชวนให้สังคมได้ขบคิดและเปิดโอกาสให้กับคนกลุ่มนี้

  (3) การสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงในระบบเศรษฐกิจอนาคต

แนวโน้มของสังคมและเศรษฐกิจในอนาคตที่นับวันเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ได้เข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายกิจกรรมของภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้กลุ่มแรงงานนอกระบบในสังคมมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปัญหาหนึ่งในการดำเนินชีวิตของผู้คนกลุ่มนี้ คือ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินในระบบที่จำกัด เนื่องจากไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินเครดิตได้ หรือหากประเมินได้ ก็ไม่ได้เครดิตที่ดีสอดคล้องกับความเป็นจริงที่สมควรจะได้รับ สาเหตุดังกล่าวส่งผลให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนทางการเงินในระบบได้ และต้องพึ่งพาการกู้เงินจากกลุ่มทุนนอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงและมีความเสี่ยงที่จะถูกติดตามทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย

การมาถึงของเทคโนโลยีดิจิตอลแพลตฟอร์ม (Digital platform) ที่ทำให้เกิด sharing economy และ e-commerce นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดงานแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้แรงงานและผู้ประกอบการนอกระบบมี Digital footprints และมีข้อมูลเพียงพอที่จะนำมาพิจารณาเครดิตที่เหมาะสม ทำให้เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น จากกรณีศึกษาในหลายประเทศ พบว่า การมีระบบการให้คะแนนสินเชื่อแบบ Information-based credit scoring เป็นทางเลือกที่ประสบความสำเร็จในการดึงกลุ่มแรงงานนอกระบบให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึงมากขึ้นจากทั้งการลดขั้นตอนและการเพิ่มอัตราการได้รับอนุมัติสินเชื่อจากข้อมูลที่ใช้ได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการผลักดันเรื่องนี้ คือ การพาแรงงานนอกระบบเข้ามาอยู่ใน Digital platform การมีกฎหมายและนโยบายที่เอื้อให้มีการใช้ข้อมูลเหล่านี้มาทำการประเมินเครดิตได้ ประกอบกับการมีกลไกที่จะให้สถาบันการเงินสามารถที่จะปล่อยกู้ในวงเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ดีโดยยังคงรักษาความเสี่ยงไว้ได้ ประเด็นสุดท้าย คือ การที่จะช่วยให้คนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในระบบภาษี เพราะจุดแข็งของระบบดิจิตอลคือความโปร่งใส การพาคนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบภาษีเท่ากับเป็นการช่วยยืนยันความจริงของข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึงได้ในที่สุด

วีดีโอแนะนำหลักนิติธรรมกับการพัฒนา TIJ Public Forum 24 กรกฎาคม 2561