งานที่ผ่านไปแล้ว

สานพลังมนุษยธรรม..สร้างสรรค์ความยุติธรรม
23 สิงหาคม 2019 Arnoma Grand Bangkok Hotel

องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้หลักนิติธรรมเป็นรากฐานและเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้กำหนดให้เป็นเป้าหมายที่ 16 จาก 17 ข้อ ในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะใช้ไปถึงปี 2573 (Sustainable Development Goals – SDGs) ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า “จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง” และย้ำให้เห็นว่าการพัฒนาแบบองค์รวมเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Institute of Justice (TIJ) มีความเชื่อว่า “ความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน” (Justice is Everyone’s Matters)  ความพยายามในการสร้างและพัฒนาหลักนิติธรรมไม่เพียงแต่จะครอบคลุมในเรื่องระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ได้ครอบคลุมอย่างกว้างขวางไปยังทุกแง่มุมของการดำรงชีวิตมนุษย์ ภายใต้แนวคิดว่าหลักนิติธรรมเป็นเรื่องการเคารพกฎกติกา เรื่องของความเป็นธรรม และเป็นหลักการพื้นฐานที่จะช่วยค้ำประกันสิทธิที่เป็นธรรม สร้างความเท่าเทียม ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่เลือกปฏิบัติ และเคารพในสิทธิมนุษยชนของคนในสังคม ดังนั้น สังคมที่มีหลักนิติธรรมจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และในทางกลับกัน สังคมที่ปราศจากหลักนิติธรรมจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ในระยะยาว

TIJ ในฐานะสถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Programme Network Institute – PNI) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มิได้จำกัดอยู่ในวงของนักกฎหมายหรือผู้บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอื่นๆ ในฐานะที่เป็นผู้ใช้กฎหมายหรือได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายด้วย ด้วยเหตุนี้ TIJ จึงได้ร่วมมือกับ Institute for Global Law and Policy (IGLP) แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จัดให้มีหลักสูตรอบรมด้านด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาสำหรับผู้บริหาร หรือ TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development (RoLD) ขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายของผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งครอบคลุมถึง การจัดให้มีการประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIJ Public Forum on the Rule of Law and Sustainable Development) เพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งนักวิชาการและภาคประชาสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมรับฟังการเสวนาและการอภิปรายเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศไทยและองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งจากผลงานของผู้บริหารและผู้นำรุ่นใหม่ที่ผ่านหลักสูตร RoLD  TIJ คาดหวังให้เวทีสาธารณะเช่นนี้เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้หรือแหล่งรวมของกลุ่มบุคลากรศักยภาพของประเทศไทย ผู้เล็งเห็นคุณค่าร่วมกันในการส่งเสริมหลักนิติธรรมในแง่มุมต่างๆ ตามความถนัดและพื้นฐานของผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่าน เพื่อให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมและได้รับการพัฒนาในมิติต่างๆอย่างยั่งยืน

ในปี 2562  ผู้บริหารที่ผ่านหลักสูตร RoLD รุ่นที่ 3 จะนำประเด็นสังคมมาวิเคราะห์ผ่านมุมมองที่หลากหลายและเชื่อมโยงถึงหลักนิติธรรม เพื่อนำเสนอในเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อ “สานพลังมนุษยธรรม..สร้างสรรค์ความยุติธรรม” (Humanizing Approach for Better Justice)  โดยมีจุดเน้นในการนำเสนอประสบการณ์ความยุติธรรมผ่านมุมมองของประชาชน การสะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาด้านมนุษยธรรมที่จะมีส่วนช่วยให้กระบวนการยุติธรรมอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชน และที่สำคัญ การทำให้เรื่องความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคนในสังคมจะสามารถสร้างแนวคิดใหม่ๆ ที่ผสมผสานหลักการด้านประสิทธิภาพ มุมมองการบริหารเชิงธุรกิจเพื่อความยั่งยืน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีในโลกดิจิตัลมาประยุกต์ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับและนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงระบบในระยะยาว อันจะส่งผลให้เป็น “ความหวัง” ต่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคมไทย ประเด็นที่นำเสนอมีดังต่อไปนี้

1. การเข้าถึงความยุติธรรมของกลุ่มเปราะบาง: การเข้าถึงกลไกการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัว

Fast, Fair, Friendly First Response

#อย่าปล่อยมือ #NeverLetGo

ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของสังคมไทยถึงขนาดฆ่ากันตายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทำร้ายร่างกายกันอย่างรุนแรงทั้งในเด็กและสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีที่ถูกสามีทำร้ายร่างกายหรือทารุณกรรมอย่างยาวนานส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง จนกระทั่งลุกขึ้นมาเป็นผู้กระทำเสียเอง บางกรณีอาจกระทำจนอีกฝ่ายถึงแก่ความตาย (Battered Wives Syndrome) หรือบางกรณีประสงค์จะไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เพียงเพื่อต้องการความปลอดภัยในชีวิต โดยมิได้มีความคิดที่จะดำเนินคดีกับสามีอย่างจริงจัง แต่กลับมีความพยายามไกล่เกลี่ย    ให้กลับไปอยู่ร่วมกันด้วยมีทัศนคติว่า เป็นเรื่องภายในครอบครัว โดยไม่ผ่านกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรงเสียก่อน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการติดสุราและยาเสพติด หากมิได้รับการบำบัดอย่างถูกวิธี ก็ยากที่จะป้องกันการกระทำซ้ำได้ นอกจากนี้ การนำเสนอภาพข่าวของสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าวอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ต้นจนถึงการส่งต่อไปยังศูนย์พึ่งได้ (OSCC) หรือโรงพยาบาล ก่อให้เกิดความหวาดกลัวและความอับอาย ส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ถูกกระทำ อันอาจถือได้ว่าถูกกระทำซ้ำจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

อนึ่ง เมื่อความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกี่ยวพันกับบุคคลใกล้ชิด หากไม่มีกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำโดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็ยากที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรต้องยึดถือหลักนิติธรรมและการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติภารกิจของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นพัฒนากระบวนการต้นแบบการเข้าถึงกลไกการคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้ปฏิบัติงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงกลไกการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมาย โดยเฉพาะกลไกตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20  สิงหาคม พ.ศ. 2562 โดยหนึ่งในกลไกที่จะส่งเสริมการเข้าถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การนำร่องโรงพักต้นแบบและการนำเสนอภาพข่าวของสื่อมวลชนที่เป็นมิตรกับผู้เสียหาย โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติงานด้วยความเห็นอกเห็นใจ และเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำ เพื่อป้องกันการถูกกระทำซ้ำจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตลอดจนการส่งต่อความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ จัดหาสถานที่ที่ปลอดภัยให้พักพิง หรือส่งโรงพยาบาลเพื่อเยียวยาบาดแผลทางร่างกายและจิตใจ ตลอดจนจัดหาสถานที่และมาตรการที่จะบำบัดฟื้นฟูเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว

2. ระบบยุติธรรมที่มองคนเป็นศูนย์กลาง

การลดความเลื่อมล้ำด้วยการสร้างโอกาสการจ้างงานดิจิตัล (DIGITAL EMPLOYABILITY)

ปัญหาความเลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงในหลากหลายมิติ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเป็นต้นเหตุของปัญหาสังคมในหลายประการ จนอาจยกระดับไปสู่ความไม่สงบในสังคมได้ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากกระบวนการออกแบบทางความคิด ทางกลุ่มพบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คือ โอกาสในการเข้าถึงศึกษา การเงิน และข้อมูลที่เท่าเทียม ซึ่ง รวมไปถึงโอกาสที่จะสร้างทางเลือกให้หลุดจากความอัตคัดก่อให้เกิดเป็นวงจรปัญหาที่ถาถมในสังคม  นำไปสู่การขาดโอกาสที่จะเข้าถึงความรู้ ทักษะ และทางเลือกที่จะสร้างรายได้เพื่อที่จะสามารถพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของการยกระดับฐานะและคุณภาพชีวิต

การมาถึงของยุค Digital Disruption ที่หลายๆ อุตสาหกรรมกำลังจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี เช่น ภาคอุตสาหกรรม  ภาคการเกษตร ความรู้แบบเดิมๆอาจไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอีกต่อไป แม้ระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยของประเทศโดยรวมจะสูงขึ้นกว่าเดิม แต่ยังมีประชากรอีกมากที่ยังความรู้ความเชี่ยวชาญไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็วนี้  ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างยิ่งขึ้นไปอีก

สิ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ ก็คือ การเพิ่มโอกาสในการพัฒนาทักษะและเข้าถึงอาชีพหรือทางเลือกที่จะสร้างรายได้  อันเป็นที่มาของโครงการลดความเลื่อมล้ำด้วยการสร้างโอกาสการจ้างงานดิจิตัล (Digital employability) ซึ่งมีแนวคิดที่จะใช้ marketplace platform สร้างโอกาส/ทางเลือกที่จะสร้างรายได้ให้แก่คนที่มีรายได้น้อยและขาดโอกาส โดยจะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านดิจิตัล (Digital literacy หรือ ความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัล อันเป็นทักษะที่สำคัญในการทำงานและดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21) เพื่อให้สามารถทำงานด้านเทคโนโลยีดิจิตัล (Digital Employability) ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน

สิ่งที่จะช่วยผลักดันให้โครงการนี้เกิดประสิทธิผลอย่างยั่งยืน คือ การพิจารณาผลประโยชน์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง (stakeholder) ทั้งหมดให้ตอบโจทย์เชิงเศรษฐกิจ ส่วนความท้าทายสำคัญของการพัฒนาโครงการนี้ คือการพัฒนาทักษะและอบรมเทคโนโลยีให้กับกลุ่มผู้ขาดโอกาสอย่างไรให้ทั่วถึง รวมไปถึงการขยายผลในการพัฒนาทักษะและสร้างรายได้รูปแบบอื่นๆ ตามความถนัดหรือความสามารถของแต่ละบุคคลอีกด้วย

3. ก่อร่างศึกษาภิบาล  หนุนสร้างการมีส่วนร่วม

Rule of Law and Governance within School

หลักธรรมาภิบาลจะมีมิติที่สำคัญ 2 ด้านคือ ความโปร่งใส (Transparency) และ การมีส่วนร่วม (Participation) แต่โดยส่วนใหญ่ แล้วในวิธีการที่นำมาใช้จะเป็นเรื่องการออก กฎ กติกา ให้องค์กร และบุคคลแสดงความโปร่งใส ในการทำงานซึ่งที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นว่า การใช้มิติ ด้านความโปร่งใสเพียงด้านเดียวอาจจะไม่สามารถสร้างธรรมาภิบาลได้จริง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่ ปัญหาการทุจริตคอรัปชัน  ทั้งนี้ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น Social Media ทำให้การนำมิติ การมีส่วนร่วมมาใช้ได้มากขึ้น อีกทั้งยังสามารถสร้างวัฒนธรรม ของธรรมาภิบาล ทุกๆ คน สามารถช่วยกันตรวจสอบได้ ทุกคนมีความรับผิดชอบ และสัมพันธ์กับมิติชุมชนแบบการมีส่วนร่วม ปัญหาทุจริตในโรงเรียนของประเทศมีจำนวนบ่อยครั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรงการอาหารกลางวัน โครงการซื้อหนังสือ หรือ โครงการนมโรงเรียน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเยาวชนของชาติในอนาคต  เราจึงเห็นว่า การสร้างวัฒนธรรม ของธรรมมาภิบาล เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ น้องๆ นักเรียน และผู้ปกครอง จะส่งผลต่อการรับผิดชอบต่อสังคม การสัมพันธ์อันดีต่อชุมชน และ การสร้างผู้นำในอนาคตของ น้องๆ นักเรียน ในการช่วยตรวจสอบ และสะท้อนกลับการดำเนินการของโรงเรียนอย่างสร้างสรรค์เพื่อโรงเรียนของเยาวชนของเราในอนาคต