วิทยากร

The International Virtual Forum: Resilient Leadership in Practice8, 9, 11 มิถุนายน 2021

ดร. พิเศษ สอาดเย็น

ปัจจุบัน ดร.พิเศษ สอาดเย็น เป็นผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย โดยที่ก่อนหน้านั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่กระทรวงยุติธรรม ประเทศไทย ในช่วงเวลาระหว่างปี 2547-2551 ดร.พิเศษทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักกิจการต่างประเทศและประสานนโยบายของสถาบันเพื่อการยุติธรรมและมีบทบาทอย่างมากในการพยายามทำให้ TIJ ได้เป็นสถาบันเครือข่ายของโปรแกรมด้านอาชญากรรมของสหประชาชาติจนเป็นผลสำเร็จยิ่งไปกว่านั้นยังทำหน้าที่ในการนำคำสั่งด้านนโยบายที่สำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโดยการนำเทคโนโลยีดิจิตัลมาใช้ในองค์กรและความมั่นคงไซเบอร์ไปปฏิบัติจนสำเร็จโดยทั่วถึงทั้งกระทรวงยุติธรรม ซึ่งรวมไปถึงโครงการที่สำคัญอย่างยิ่งของกระทรวงยุติธรรมเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) เพื่อนำมาใช้ในการคาดการณ์ว่าจะมีการกระทำผิดซ้ำ และการฟื้นฟูผู้กระทำความผิด  ดร.พิเศษ มีความสนใจด้านการวิจัยในหลากหลายสาขา ซึ่งรวมทั้งเรื่องการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิด การเข้าถึงความยุติธรรม การเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาที่ยั่งยืน และการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ดร. อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์

ดร. อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ เป็นรองผู้อำนวยการและรักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ซึ่งเธอเป็นผู้กำหนดกรอบแนวคิดและบริหารจัดการโครงการริเริ่มต่างๆ ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม (justice sector) เธอได้พัฒนาหลักสูตรหลักนิติธรรมและการพัฒนา (Rule of Law and Development – RoLD) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือกับ Institute for Global Law and Policy แห่ง Harvard Law School ซึ่งภายใต้โครงการนี้ TIJ ได้จัดทำเวิร์คชอปต่างๆ สำหรับผู้นำด้านนโยบายจากทวีปเอเชีย นอกจากนั้น ดร. อณูวรรณ ยังเป็นผู้บุกเบิกในการริเริ่มจัดทำแพลตฟอร์มสำหรับนวัตกรรมด้านการยุติธรรม (justice innovation platform) ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งเป็นที่บ่มเพาะและสังเคราะห์แนวทางในการแก้ปัญหาสำหรับภาคส่วนของหน่วยงานและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม โดยการใช้เครื่องมือแบบสหวิทยาการ เช่น กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design-thinking) และกระบวนการคิดเชิงระบบ (systems-thinking)

ในฐานะคณะผู้บริหารของ TIJ ดร. อณูวรรณ ยังเป็นผู้จัดการงานที่เกี่ยวข้องกับภาคีภายนอกองค์กรด้วย ได้แก่ ธนาคารโลก, The Hague Institute for Innovation of Law, Harvard University และ Stanford University ก่อนหน้านั้นเธอได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และแผน สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และยังเคยทำงานในสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

Renaud Meyer

คุณ Renaud เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 หลังจากที่ทำงานอยู่ในประเทศเนปาลในตำแหน่งผู้อำนวยการ UNDP ประจำประเทศเนปาลมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ก่อนมาประจำการที่ประเทศเนปาล คุณ Renaud ได้ทำงานในตำแหน่งรองผู้อำนวยการอาวุโสของ UNDP ประจำประเทศอัฟกานิสถานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 จนถึงเดือนธันวาคม 2557 เป็นผู้อำนวยการประจำประเทศฟิลิปปินส์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 ถึงเดือนตุลาคม 2555 และเป็นรองผู้อำนวยการ UNDP ประจำประเทศจีนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 ถึงเดือนสิงหาคม 2551

ก่อนเข้ามาทำงานกับ UNDP ในภูมิภาคเอเชีย คุณ Renaud ได้ทำงานอยู่ 4 ปีที่สำนักงานใหญ่ในตำแหน่งผู้ช่วยพิเศษของ UNDP Associate Administrator ในสำนักผู้บริหาร (Executive Office) ในนิวยอร์คตั้งแต่ปี 2545 ถึง 2547 และเป็นผู้ช่วยพิเศษของผู้อำนวยการ Bureau for Development Policy โดยเริ่มเข้าทำงานในปี 2543

คุณ Renaud เริ่มชีวิตการทำงานที่ UNDP ในตำแหน่ง Program Officer (JPO) ที่ประเทศเลบานอนในปี 2541 ก่อนเข้ามาเริ่มทำงานในองค์การสหประชาชาติ คุณ Renaud ทำงานให้กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสที่ประเทศตูนิเซีย

คุณ Renaud เป็นชาวฝรั่งเศส ได้รับปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและด้านพัฒนศึกษาจาก University of Strasbourg และจบการศึกษาจาก Institute D’ Etudes Politiques of Strasbourg นอกจากนั้นยังสำเร็จหลักสูตรหนึ่งปีที่ School of Foreign Service ที่ Georgetown University ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา

ดร.อนรรฆ เสรีเชษฐพงษ์

ดร.อนรรฆ เสรีเชษฐพงษ์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ของโครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme-UNDP) มีหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจและแนวโน้มต่างๆที่สำคัญต่อการพัฒนา ตลอดจนขับเคลื่อนโครงการการเสริมสร้างระบบการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Integrated National Financing Framework) ที่ผ่านมา ดร.อนรรฆ ได้ร่วมจัดทำการศึกษาของสหประชาชาติ เรื่อง การประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมของโควิด 19 ในประเทศไทย ก่อนเข้ารับตำแหน่งใน UNDP ดร.อนรรฆ ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและ Assistant Vice President ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด มหาชน และเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของ IMF และธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.อนรรฆ เรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีรวมทั้งสิ้น 4 สาขา ได้แก่ วิศวกรรมโยธา, นิติศาสตร์, เทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ และรัฐประศาสนศาสตร์ และระดับปริญญาโท 1 สาขาทางด้าน Master of Science (Geodetic Science and Surveying), Ohio State University

ปัจจุบัน ณรงค์ศักดิ์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง, ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด และประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดลำปาง  นอกจากนี้ ยังเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มีชื่อเสียงจากการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานการณ์ช่วยเหลือเด็กและโค้ชติดถ้ำ 13 คน ในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2561 – 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

Julie Rieger

คุณ Julie มีตำแหน่งเป็น Chief Counsel for East Asia & Pacific (EAP) ในสำนักงาน Legal Vice Presidency ของธนาคารโลก ในฐานะที่เป็นหัวหน้านักกฎหมายสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก  คุณ Julie ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกลุ่มนักกฎหมาย นักวิเคราะห์และผู้ช่วยงานด้านการพัฒนาซึ่งทุ่มเททำงานอย่างเต็มความสามารถ โดยเป็นทีมที่ให้การสนับสนุนด้านกฎหมายแก่การดำเนินงานของธนาคารโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ก่อนหน้านั้นคุณ Julie ได้ปฏิบัติงานซึ่งครอบคลุมภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asia Region-SAR) ในฐานะที่เป็น Chief Counsel ซึ่งรับผิดชอบงานทั้งใน EAP และ SAR จนถึงฤดูใบไม้ร่วงของปี 2563

ก่อนรับหน้าที่ Chief Counsel (EAP และ SAR) เธอเป็นนักกฎหมายอาวุโสซึ่งดูแลเรื่องของกฎหมายด้านต่างๆในการดำเนินงานของธนาคารโลกในหลายภูมิภาคและในช่วงเวลาต่างๆ (แอฟริกา, ยุโรป &เอเชียกลาง, ละตินอเมริกา & แคริบเบียน, และตะวันออกกลาง & แอฟริกาเหนือ) ก่อนเข้ามาร่วมงานกับธนาคารในปี 2550 คุณ Julie ทำงานเป็นทนายความ ที่สำนักกฎหมายระหว่างประเทศ Allen & Overy LLP ที่ลอนดอน และดูไบ เธอได้รับปริญญาโท (LL.M) ด้านกฎหมายอิสลามจาก School of African and Oriental Studies (SOAS), University of London และได้รับปริญญาตรี (LL.B) สาขากฎหมายอังกฤษและกฎหมายเยอรมันจาก King’s College, ลอนดอน และ Universitat Passau, เยอรมนี

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิรูปศาลและความยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนาน และได้ให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมในการปรับปรุงระบบศาลไทยจากการที่มีบทบาทอยู่ในองค์กรระดับชาติหลายองค์กร เป็นที่ทราบกันดีว่า ดร.กิตติพงษ์ เป็นหนึ่งในผู้ที่สนับสนุนให้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมุ่งไปสู่วิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมายและหลักนิติธรรม และให้มีการริเริ่มนำเอาความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และโปรแกรมยุติธรรมชุมชนไปดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จ  ในด้านสันติภาพและการปรองดอง ดร. กิตติพงษ์ ทำงานอย่างมุ่งมั่นอยู่ในคณะกรรมการเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติซึ่งมีจุดรวมความสนใจอยู่ที่เรื่องความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ และในคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง หลังจากได้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมมาเป็นเวลา 6 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ดร. กิตติพงษ์ได้มาเริ่มบทบาทใหม่ในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์การมหาชนที่มีจุดประสงค์ในการส่งเสริม การวิจัย และการทำกิจกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถตามมาตรฐานและบรรทัดฐานเกี่ยวกับความยุติธรรมของสหประชาชาติ ปัจจุบัน ดร. กิตติพงษ์ เป็นที่ปรึกษาพิเศษของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

ดร. กิตติพงษ์ได้รับปริญญาเอก (J.S.D.) จาก Stanford Law School ปริญญาโท (LL.M.) จาก Harvard Law School จบหลักสูตรเนติบัณฑิตไทยของเนติบัณฑิตยสภา ได้รับปริญญาโท (LL.M) จาก Cornell Law School และปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

เอด้า จิรไพศาลกุล

เอด้าเชื่อว่าสามารถสร้างสังคมไทยที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้ภายในช่วงชีวิตของตัวเอง โดยความสนใจหลักในช่วงสิบปีนี้อยู่ในเรื่อง (1) การสร้างโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ของประชากรในกลุ่มฐานของปิระมิดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และโอกาส และ (2) การสร้างเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่จากทุกภาคส่วนที่เข้าใจและใส่ใจต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนงานในปัจจุบันและอนาคต

ปัจจุบันเอด้าดำรงตำแหน่ง CEO ของ TaejaiDotcom ซึ่งเป็น platform การบริจาคเพื่อพัฒนาสังคมออนไลน์ (Crowdgiving) แห่งแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อนหน้านี้เอด้าเป็นผู้อำนวยการด้านการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม (Head, Social Impact Advisory) ของบริษัท ChangeVentures ที่ให้คำปรึกษากับผู้บริจาครายใหญ่ ครอบครัวที่สนใจงานการกุศล และองค์กรภาคการเงินและเอกชนเพื่อใช้การลงทุนเพื่อสังคมเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เป็นอาจารย์ด้านการประกอบการสังคม (Social Entrepreneurship) และผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์นวัตกรรมสังคม (GLab) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจและบุกเบิกกลไกภาครัฐในการสนับสนุนเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคม สำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นนักกลยุทธ์และวางแผนองค์กร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ Boston Consulting Group

เอด้าใช้เวลาว่างในช่วงสิบปีที่ผ่านมาทำเครือข่าย Thai Young Philanthropist Network (TYPN) เป็นชุมชนของคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจร่วมกันในการพัฒนาสังคมไทยในทิศทางที่ทั่วถึงและยั่งยืน (inclusive and sustainable development) โดยโครงการที่ผ่านมาเน้นการทำงานร่วมกับองค์กรการพัฒนาในภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ในประเด็นการศึกษา การพัฒนาเยาวชน และการใช้เครื่องมือ/แนวคิดใหม่ในงานพัฒนา เช่น แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม (social entrepreneurship) งานอาสาถนัด (skill-base volunteering) และการเงินเพื่อการพัฒนา (innovative development financing) เป็นต้น โดย TYPN และโครงการภายใต้ TYPN ได้สร้างการมีส่วนร่วมให้กับคนรุ่นใหม่กว่า 1,500 คนในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และมีผลงานที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น โครงการ Brain Exchange เป็น Social Entrepreneurship Internship Best Practice ของ Ashoka U ในปี 2014 และ TYPN เป็นองค์กรจากประเทศไทยแห่งแรกที่ได้รับเลือกเป็น Global Pro Bono Fellow ของ BMW Foundation และ Taproot Foundation เป็นต้น

เอด้าจบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ (ภาคภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทด้านนโยบายเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ จาก Columbia University ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน จาก University College London ประเทศอังกฤษ และเป็น Global Social Innovation Fellow ของ Rockefeller Foundation และ Global Shaper ของ World Economic Forum

สันติธาร เสถียรไทย

ดร. สันติธาร เสถียรไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานทีมเศรษฐกิจ (Group Chief Economist) และกรรมการผู้จัดการของบริษัท Sea Group บริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลเจ้าของ Garena, Shopee และ Seamoney

ทั้งยังดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระของบริษัทเงินติดล้อ กรรมการที่ปรึกษาของเทใจดอทคอม แพลตฟอร์มระดมทุนเพื่อสังคมแห่งแรกและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลสิงคโปร์ให้เป็นคณะกรรมการ Digital Readiness Council ดูแลเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลของประเทศ

ดร.สันติธาร มีประสบการณ์ทำงานทั้งในภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและการเงิน เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของทีมเศรษฐกิจเอเชียที่ธนาคาร Credit Suisse (เครดิตสวิส) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้ มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี เป็นอาจารย์พิเศษที่คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานที่กระทรวงการคลังในประเทศไทย และ Government of Singapore Investment Corporation และยังเป็นผู้เขียนหนังสือ “The Great Remake สู่อนาคต”และ “Futuration เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคต” หนังสือขายดีจากสำนักพิมพ์มติชน

ดร. สันติธาร เป็นคนแรกจากอาเซียนที่ได้เชิญจาก World Economic Forum ให้เป็นสมาชิกกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่มาช่วยคิดออกแบบอนาคตเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 (Global Chief Economist Community) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้เดียวในเอเชียที่ชนะรางวัลพยากรณ์เศรษฐกิจยอดเยี่ยมระดับโลกของ Consensus Economics ติดกันสามปีซ้อน และได้รับการคัดเลือกจาก Asia Society ให้เป็น Asia 21 Young Leaders ประจำปี 2017

ดร. สันติธาร เป็นคนไทยคนเดียวที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) นอกจากนี้ยังจบปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ด้านการพัฒนาระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และปริญญาตรีและปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จาก London School of Economics and Political Sciences (LSE)

ศิริพร พรมวงศ์

คุณศิริพร พรมวงศ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สาขาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าทำงานเป็นพยาบาลวิชาชีพที่โรงพยาบาลรามาธิบดีและยังได้ทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาทั้งในด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติและกลุ่มดนตรีอาสา

ปัจจุบัน คุณศิริพร เป็นหัวหน้าโครงการช่วยเหลือสังคมหลายโครงการ อาทิ

– โครงการคลองเตยดีจัง: เปิดสอนเปิดสอนดนตรีฟรีให้กับเด็กในชุมชนคลองเตย มีกิจกรรมพัฒนาเด็กด้วยศิลปะ กิจกรรมสร้างสรรค์ การสนับสนุนทุนการศึกษา และสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนคลองเตย ปัจจุบันกำลังจะเปิดเป็นศูนย์การเรียนเพื่อรองรับกลุ่มเด็กที่ออกนอกระบบการศึกษา

– โครงการดนตรีเพื่อการแบ่งปัน: เป็นโครงการที่สนับสนุนให้เกิดพื้นที่ในการใช้ดนตรีเพื่อการพัฒนาเด็ก มีประมาณ 22 โครงการโดยมีพื้นที่ทำงานกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

– โครงการการพัฒนาการศึกษาเพื่อความยั่งยืนเพื่อเด็กชาย: เป็นโครงการที่พัฒนาศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โดยมีพื้นที่แลกเปลี่ยนการทำงานกับ เกาะสิเหร่ จ.ภูเก็ต บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และชุมชนคลองเตย ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นอกจากนี้ คุณศิริพร ยังเคยเป็นหนึ่งในวิทยากรที่ขึ้นพูดบนเวที TED Talk ในหัวข้อ TED x KlongToei จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา

David Kennedy

David Kennedy เป็น Manley O. Hudson Professor of Law และเป็นผู้อำนวยการ (Faculty Director) ของ Institute for Global Law and Policy ที่ Harvard Law School ซึ่ง Dr. Kennedy เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทฤษฎีด้านกฎหมาย กฎหมายและการพัฒนา และกฎหมายยุโรปมาตั้งแต่ปี 2524 Dr. Kennedy ได้รับปริญญาเอก (Ph.D.) จาก Fletcher School, Tuffs University และปริญญาทางกฎหมาย (J.D.) จาก Harvard

Dr. Kennedy ได้เขียนบทความไว้มากมายเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและธรรมาภิบาลโลก นอกจากจะทำงานเป็นนักกฎหมายและที่ปรึกษาแล้ว Dr. Kennedy ยังทำงานซึ่งเป็นโครงการระหว่างประเทศมากมายทั้งในภาคการพาณิชย์และภาครัฐ ซึ่งรวมทั้งการทำงานกับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ

Dr. Kennedy เคยเป็นประธานและสมาชิกของสภาที่ปรึกษา Global Advisory Council on Global Governance ของ World Economic Forum และในปี 2554 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาชาวต่างประเทศของคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง ปัจจุบัน Dr. Kennedy เป็นสมาชิกของคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย

อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาร์ม ตั้งนิรันดร เป็น Residential Fellow ที่ IGLP ระหว่างปี 2556-2561 และเพิ่งได้รับปริญญาเอก (Ph.D) จาก Stanford Law School เมื่อเร็วๆ นี้ ปัจจุบันเป็นรองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ดร. อาร์ม ได้ใช้ วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงสหวิทยาการในการศึกษาประเด็นต่างๆของวัฒนธรรมต่างๆของกฎหมายเปรียบเทียบ วิธีปฏิบัติด้านกฎหมายธุรกิจ ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายและการพัฒนาเศรษฐกิจ ดร. อาร์ม ได้รับปริญญาตรีด้านกฎหมาย (LL.B) จาก Peking University กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ปริญญาโท (LL.M.) ด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศจาก Harvard Law School และปริญญาโท (J.S.M.) ในสาขากฎหมายและสังคมจาก Stanford Law School ดร. อาร์ม สามารถใช้ภาษาได้อย่างแคล่วคล่องถึงสามภาษา และชอบวิธีการคิดแบบข้ามพรมแดนประเทศ นิติประเพณี (legal traditions) และวิทยาการสาขาต่างๆ

งานวิจัยของ ดร. อาร์ม เป็นการทำงานภาคสนามและการสัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของนักกฎหมายบรรษัทข้ามชาติ (transnational corporate lawyers)ในเชิงวิพากษ์ และการปฏิบัติงานของนักกฎหมายเหล่านั้นในเมียนมา โดยที่ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงมุมมองเชิงเปรียบเทียบจากองค์ความรู้ในอดีตเรื่องโลกาภิวัตน์ของกฎหมายและพัฒนาการของภาคส่วนกฎหมายหุ้นส่วนบริษัท (corporate legal sector)ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ เช่น ประเทศจีนและอินเดีย

กิริฎา เภาพิจิตร

ดร. กิริฏา เริ่มทำงานที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอิสระชั้นนำในประเทศไทยในปี 2558  ปัจจุบัน ดร. กิริฎาเป็นผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) ซึ่งเป็นโครงการสำหรับสมาชิกจากภาคธุรกิจของ TDRI  ดร. กิริฎาเป็นผู้ดูแลการเตรียมข้อมูลสำหรับการสัมมนารายเดือนที่จัดขึ้นเพื่อบริษัทที่เป็นสมาชิก โดยหัวข้อต่างๆ มีความเกี่ยวข้องและเป็นที่สนใจของแวดวงธุรกิจ  ดร. กิริฏา มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านการติดตามและการวิเคราะห์พัฒนาการต่างๆ ของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยซึ่งรวมถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ, ผลกระทบของโรคระบาดโควิด 19, การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร, และประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยี

ในปี 2542-2558 ดร. กิริฏา ดำรงตำแหน่งนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่ Macroeconomics and Fiscal Policy Management Global Practice และเป็นนักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทยของกลุ่มธนาคารโลก (The World bank Group) สำหรับการทำงานของ ดร. กิริฏาในประเทศไทยนั้นเกี่ยวกับการติดตามและประเมินพัฒนาการทางเศรษฐกิจ, บรรยากาศการลงทุน, ความสามารถในการแข่งขัน, ผลกระทบของอุทกภัย ปี 2554 และการปฏิรูปภาครัฐ ดร. กิริฏายังเป็นผู้เขียนรายงาน Thailand Economic Monitor ของ World Bank (ปี 2546-2558) ซึ่งเป็นรายงานราย 6 เดือนที่มีผู้สนใจดาวน์โหลดและนำไปใช้อ้างอิงมากที่สุดฉบับหนึ่งในประเทศไทย

ดร.กิริฏามีประสบการณ์สูงในระดับภูมิภาคจากการที่เคยทำงานที่ประเทศสปป.ลาว, กัมพูชา และเอเชียใต้ ปัจจุบันเป็นผู้เขียนรายงานราย 6 เดือนเกี่ยวกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในปี 2553 ดร. กิริฎาได้ไปปฏิบัติงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเธอทำงานเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในภูมิภาคต่างๆ ของเอเชียตะวันออกและเป็นผู้เขียนบทความเกี่ยวกับประมาณการแนวโน้มความเคลื่อนไหวทางการเงินในภูมิภาคเอเชียใต้

เนื่องด้วยการที่ ดร. กิริฏา เป็นที่ยอมรับในวงการเศรษฐศาสตร์และธุรกิจในประเทศไทย ทำให้ได้รับเชิญออกสื่อต่างๆ อยู่เป็นประจำ, ร่วมปาฐกถาในเวทีระดับสูงทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน และยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรของหลักสูตรผู้บริหารต่างๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังเคยขึ้นพูดบนเวที TED Talk ในงาน TED x ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทยในปี 2561

ดร. กิริฎาได้รับปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Cornell (สหรัฐอเมริกา)

ณัฏฐา โกมลวาทิน

ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน จบการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาสตรีศึกษาจาก London School of Economics (LSE) สหราชอาณาจักรในปี 2549  ในปัจจุบัน ดร.ณัฏฐา มีประสบการณ์กว่า 16 ปี ในวงการสื่อโดยใช้แพลตฟอร์มหลากหลายในฐานะที่เป็นผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ นอกจากนั้น ดร.ณัฏฐา ยังใช้สื่อ Social Media อย่างมากเพื่อส่งเสริมการรายงานข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Twitter Facebook และ YouTube

ดร.ณัฏฐา มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษผู้นำจากนานาชาติและทำรายงานเชิงลึกเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองในภูมิภาคและประเด็นปัญหาต่างๆของโลก เมื่อไม่กี่ปีมานี้เธอได้ทำรายงานเกี่ยวกับประเทศไทย อาเซียนและกิจการระหว่างประเทศโดยที่ผลิตรายงานเป็นตอนๆเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์และประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ หัวข้อในรายงานของเธอเมื่อไม่นานมานี้รวมถึงเรื่องการเลือกตั้งในสหราชอาณาจักรในปี 2558 และสารคดีหลายตอนต่อเนื่องกันเรื่อง 800 ปี แมกนา การ์ตา และประชาธิปไตยไทย เรื่องการเลือกตั้งในสิงคโปร์ในปี 2558 และการเลือกตั้งในเมียนมาร์ในปี 2558

Ronald Heifetz

คุณ Ronald เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมากที่สุดคนหนึ่งของโลกในเรื่องของการปฏิบัติและการสอนเรื่องภาวะผู้นำ  คุณ Ronald เป็นผู้ปราศรัยบนเวทีต่างๆ มากมายและเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่หัวหน้าคณะรัฐบาลตลอดจนผู้นำภาคธุรกิจและองค์กรไม่แสวงผลกำไรทั่วโลก  ในการกล่าวสุนทรพจน์ขณะขึ้นรับรางวัลในเบลสาขาสันติภาพในปี 2559 ประธานาธิบดี Juan Manuel Santos แห่งประเทศโคลัมเบียได้เน้นถึงความสำคัญของคำแนะนำของคุณ Ronald

คุณ Ronald เป็นผู้ก่อตั้ง Center for Public Leadership ที่ Harvard Kennedy School ที่เขาเป็นอาจารย์สอนมาเกือบ 4 ทศวรรษ คุณ Ronald เป็น King Hussein Bin Talal Senior Lecturer in Public Leadership และมีบทบาทเป็นผู้บุกเบิกให้มีการสอนเรื่องภาวะผู้นำในการเรียนและการศึกษาในสหรัฐฯ และที่ Harvard งานวิจัยของคุณ Ronald เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาท้าทายสองอย่างคือการพัฒนาการพื้นฐานทางความคิดสำหรับการวิเคราะห์และการปฏิบัติในการเป็นผู้นำ และการพัฒนาวิธีการที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง (transformative methods) สำหรับการศึกษา การฝึกอบรมและการให้คำปรึกษาหาด้านภาวะผู้นำ

คุณ Ronald ได้ร่วมกับ Riley Sinder และ Marty Linsky พัฒนากรอบแนวทางสำหรับการเป็นผู้นำที่รู้จักปรับตัว (adaptive leadership) เพื่อให้เป็นพื้นฐานสำหรับการการวิจัยและการปฏิบัติในการเป็นผู้นำ หนังสือเล่มแรกของเขา ‘Leadership Without Easy Answer’ (2537) เป็นหนังสือที่มีคุณค่าเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานี้และเป็นหนึ่งในสิบของตำราเรียนที่มหาวิทยาลัย Harvard และ มหาวิทยาลัย Duke กำหนดให้นักศึกษาอ่านมากที่สุด คุณ Ronald ร่วมกับ Marty Linsky เขียนหนังสือขายดีชื่อ ‘Leadership on the Line: Staying Alive through the Dangers of Changes’ ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือหลักสำหรับใช้อ้างอิงเบื้องต้นของผู้ประกอบวิชาชีพในทุกภาคส่วน (2545, แก้ไขปรับปรุง 2560) หลังจากนั้นเขาได้เขียนหนังสือสำหรับงานภาคสนามชื่อ ‘The Practice of Adaptive Leadership: Tools and the Tactics for Changing Your Organization and the World’ ร่วมกับ Alexander Grashow และ Marty Linsky (2554)

คุณ Ronald เริ่มมุ่งให้ความสนใจต่อวิธีการที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง (transformative methods) ของการศึกษาด้านภาวะผู้นำและการพัฒนาในปี 2526 วิชาภาวะผู้นำที่เขาเป็นผู้สอนถือได้ว่าเป็นตำนาน เพราะเป็นวิชาที่ดึงดูดนักศึกษาจากคณะต่างๆของบัณฑิตวิทยาลัยของ Harvard และจากมหาวิทยาลัยใกล้เคียงให้พากันมาเข้าเรียน ศิษย์เก่าของ Kennedy School ถือว่าวิชาหลักที่คุณ Ronald เป็นผู้สอนเป็นวิชาที่มีอิทธิพลสูงสุดในด้านการงานอาชีพของพวกเขา วิธีการสอนของเขาได้มีผู้นำไปศึกษาอย่างกว้างขวางในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกต่างๆ และในหนังสือชื่อ ‘Leadership Can Taught’  โดย Sharon Daloz Parks (2548)

คุณ Ronald จบการศึกษาจาก Columbia University, Harvard Medical School และ Kennedy School ตัวเขาเองเป็นทั้งแพทย์และนักเล่นเชลโล  ตั้งแต่แรกคุณ Ronald เข้าฝึกอบรมด้านศัลยกรรมก่อนที่จะตัดสินใจหันไปทุ่มเทกับการศึกษาด้านภาวะผู้นำในกิจการสาธารณะ องค์กรภาคธุรกิจและองค์กรไม่หวังผลกำไร คุณ Ronald สำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์ในสาขาจิตเวชซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการที่จะพัฒนาวิธีการสอนให้ทรงพลังยิ่งขึ้นต่อไปและทำให้เขามีมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับเรื่องเครื่องมือทางความคิด (conceptual tools)ของจิตวิทยาการเมือง และพฤติกรรมองค์กร ในฐานะที่เป็นนักเล่นเชลโล เขาได้รับโอกาสพิเศษให้ได้เป็นศิษย์ของ Gregory Piatigorsky ซึ่งเป็นสุดยอดนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซีย