วิทยากร

แนวทางใหม่เพื่อสร้างสรรค์ความเป็นธรรมด้วยหลักนิติธรรม24 กรกฎาคม 2018 โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิรูปศาลและความยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนาน และได้ให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมในการปรับปรุงระบบศาลไทยจากการที่มีบทบาทอยู่ในองค์กรระดับชาติหลายองค์กร เป็นที่ทราบกันดีว่า ดร.กิตติพงษ์ เป็นหนึ่งในผู้ที่สนับสนุนให้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมุ่งไปสู่วิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมายและหลักนิติธรรม และให้มีการริเริ่มนำเอาความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และโปรแกรมยุติธรรมชุมชนไปดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จ  ในด้านสันติภาพและการปรองดอง ดร. กิตติพงษ์ ทำงานอย่างมุ่งมั่นอยู่ในคณะกรรมการเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติซึ่งมีจุดรวมความสนใจอยู่ที่เรื่องความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ และในคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง หลังจากได้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมมาเป็นเวลา 6 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ดร. กิตติพงษ์ได้มาเริ่มบทบาทใหม่ในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์การมหาชนที่มีจุดประสงค์ในการส่งเสริม การวิจัย และการทำกิจกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถตามมาตรฐานและบรรทัดฐานเกี่ยวกับความยุติธรรมของสหประชาชาติ ปัจจุบัน ดร. กิตติพงษ์ เป็นที่ปรึกษาพิเศษของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

ดร. กิตติพงษ์ได้รับปริญญาเอก (J.S.D.) จาก Stanford Law School ปริญญาโท (LL.M.) จาก Harvard Law School จบหลักสูตรเนติบัณฑิตไทยของเนติบัณฑิตยสภา ได้รับปริญญาโท (LL.M) จาก Cornell Law School และปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี ชัยวัฒน์

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์เชิงทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Center for Behavioral and Experimental Economics) ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์

ดร.ธานี มีความสนใจในเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบัน (Institutional Economics) และเศรษฐศาสตร์เชิง ทดลอง (Experimental Economics) โดยเฉพาะประเด็นทางด้านค่านิยมและวัฒนธรรม งานวิจัยของ ดร. ธานี เกี่ยวข้องกับเรื่องการออกแบบสถาบัน เศรษฐกิจนอกระบบ คอร์รัปชั่น คนไร้บ้าน การค้าบริการทางเพศ การวัดบรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) และ ผลของสื่อกับการโกง เป็นต้น ผลงานวิจัยที่น่าสนใจ อาทิเช่น “วัฒนธรรม สถาบัน และการเติบโตระยะยาว” (2556) “คอร์รัปชันในระบบราชการไทย: การสำรวจทัศนคติ และประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน” (2557) และ “โครงการพัฒนาแนวทางการส่งเสริมจริยธรรม และการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ กรณีการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของข้าราชการพลเรือน” (2558) เป็นต้น

ดร. ธานี จบการศึกษาเศรษฐศาสตรมหาบันฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบการศึกษาระดับปริญญาเอก (Dottorato in Economia Politica) จากมหาวิทยาลัยโบโลญญา (University of Bologna) ประเทศอิตาลี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) และปริญญาโทนิติศาสตรมหาบัณฑิต (Master of Law) จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania)  และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และ Doctor of Juridical Science จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล แมดิสัน (University of Wisconsin – Madison)  ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง คณบดี คณะนิติศาสตร์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ A-4 สังกัดคณะนิติศาสตร์)

ด้านงานบริการวิชาการ ผศ.ดร.ปารีณาเคยเป็นผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM) ครั้งที่ 8 กระทรวงยุติธรรม (พ.ศ. 2545)  กรรมการกลั่นกรองกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม (พ.ศ. 2545 – ปัจจุบัน)  กรรมการประเมินความเหมาะสมของบุคคลในการร่วมแข่งขันเพื่อรับทุนรัฐบาล ประจำปี พ.ศ. 2546 (ทุนบุคคลทั่วไป ระดับปริญญา) สำนักงาน ก.พ. (พ.ศ. 2546) คณะทำงานศึกษาการกระทำความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ (สำนักงานหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำสวนจิตรลดา) (พ.ศ. 2549)  กรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธ์ (กรมอนามัย) เป็นต้น

ผศ. ดร.ปารีณา มีผลงานทางวิชาการ เช่น เอกสารประกอบการสอนวิชากฎหมายธุรกิจ 2 วิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา วิชากฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ วิชา Legal Education in Thailand บทความเรื่อง “The Institutionalization of International Environmental Law” เป็นที่ปรึกษาและนักวิจัยโครงการวิจัย เรื่อง “การสืบค้นแนวคิดเกี่ยวกับการกำหนดอายุความทางอาญาในบริบทสังคมไทย” เป็นหัวหน้าโครงการและนักวิจัย เรื่อง “ศึกษาแนวทางพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมในการคุ้มครองสิทธิประชาชนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล” เป็นหัวหน้าโครงการและนักวิจัย โครงการเรื่อง “กฎหมายเกี่ยวกับการล่อให้กระทำความผิดอาญา: ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายไทยกับกฎหมายนานาชาติ” และหัวหน้าโครงการ เรื่อง “จัดทำฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคง” เป็นต้น

เอด้า จิรไพศาลกุล

เอด้าเชื่อว่าสามารถสร้างสังคมไทยที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้ภายในช่วงชีวิตของตัวเอง โดยความสนใจหลักในช่วงสิบปีนี้อยู่ในเรื่อง (1) การสร้างโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ของประชากรในกลุ่มฐานของปิระมิดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และโอกาส และ (2) การสร้างเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่จากทุกภาคส่วนที่เข้าใจและใส่ใจต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนงานในปัจจุบันและอนาคต

ปัจจุบันเอด้าดำรงตำแหน่ง CEO ของ TaejaiDotcom ซึ่งเป็น platform การบริจาคเพื่อพัฒนาสังคมออนไลน์ (Crowdgiving) แห่งแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อนหน้านี้เอด้าเป็นผู้อำนวยการด้านการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม (Head, Social Impact Advisory) ของบริษัท ChangeVentures ที่ให้คำปรึกษากับผู้บริจาครายใหญ่ ครอบครัวที่สนใจงานการกุศล และองค์กรภาคการเงินและเอกชนเพื่อใช้การลงทุนเพื่อสังคมเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เป็นอาจารย์ด้านการประกอบการสังคม (Social Entrepreneurship) และผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์นวัตกรรมสังคม (GLab) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจและบุกเบิกกลไกภาครัฐในการสนับสนุนเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคม สำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นนักกลยุทธ์และวางแผนองค์กร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ Boston Consulting Group

เอด้าใช้เวลาว่างในช่วงสิบปีที่ผ่านมาทำเครือข่าย Thai Young Philanthropist Network (TYPN) เป็นชุมชนของคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจร่วมกันในการพัฒนาสังคมไทยในทิศทางที่ทั่วถึงและยั่งยืน (inclusive and sustainable development) โดยโครงการที่ผ่านมาเน้นการทำงานร่วมกับองค์กรการพัฒนาในภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ในประเด็นการศึกษา การพัฒนาเยาวชน และการใช้เครื่องมือ/แนวคิดใหม่ในงานพัฒนา เช่น แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม (social entrepreneurship) งานอาสาถนัด (skill-base volunteering) และการเงินเพื่อการพัฒนา (innovative development financing) เป็นต้น โดย TYPN และโครงการภายใต้ TYPN ได้สร้างการมีส่วนร่วมให้กับคนรุ่นใหม่กว่า 1,500 คนในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และมีผลงานที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น โครงการ Brain Exchange เป็น Social Entrepreneurship Internship Best Practice ของ Ashoka U ในปี 2014 และ TYPN เป็นองค์กรจากประเทศไทยแห่งแรกที่ได้รับเลือกเป็น Global Pro Bono Fellow ของ BMW Foundation และ Taproot Foundation เป็นต้น

เอด้าจบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ (ภาคภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทด้านนโยบายเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ จาก Columbia University ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน จาก University College London ประเทศอังกฤษ และเป็น Global Social Innovation Fellow ของ Rockefeller Foundation และ Global Shaper ของ World Economic Forum

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จบการศึกษาระดับปริญตรี คณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอเสตต สหรัฐอเมริกา และระดับปริญโท ด้านการบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยยูโรเปียน สวิตเซอร์แลนด์

อดีตดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ริเริ่มโครงการเรียนฟรี เรียนดีอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นการปรับยกระดับมาตรฐานของระบบการศึกษาของเด็กนักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 436 แห่ง นักเรียนกว่า 300,000 คน ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยทีมีการทำนโยบายเรียนฟรีของการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยเน้นให้นักเรียนมีความสมดุล พร้อมทั้งความรู้และคุณธรรมจริยธรรม ให้สิทธิและโอกาสนักเรียนเท่าเทียมกันกันอย่างไม่มีเงื่อนไขในการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ที่สำคัญการยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนให้มีคุณภาพ เน้นการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คุณกุลนรัตน์ สามัคคีนิชย์, CFA

คุณกุลนรัตน์มีประสบการณ์การทำงานในวงการการเงินมากกว่า 14 ปี โดยดำรงตำแหน่งอาวุโสในธนาคารระหว่างประเทศขนาดใหญ่หลายแห่ง คุณกุลนรัตน์จบการศึกษาปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจและการเงินจากมหาวิทยาลัย San Francisco State และยังเป็น CFA Charter Holder อีกด้วย โดยคุณกุลนรัตน์มีความสนใจเรื่อง Financial Inclusion และยังเป็นอาสาสมัครทำงานในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องความรู้เรื่องทางการเงิน (Financial Literacy) และการศึกษาของผู้หญิง เช่น At-Risk Women program Junior Achievement และ Weduglobal.org ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศอีกด้วย

คุณกุลนรัตน์เป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันและนำพาให้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ของ LenddoEFL ไปสู่กลุ่มตลาดใหม่ที่ขาดการบริการในภูมิภาคอินโดจีน

นายบัญชา มนูญกุลชัย

ปัจจุบันเป็น ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเทคโนโลยีทางการเงิน รับผิดชอบในการส่งเสริมให้เกิดการนำ Financial Technology มาสร้างนวัตกรรมทางการเงินและการชำระเงินใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับศักยภาพของผู้ให้บริการทางการเงินของไทยให้ทัดเทียมกับสากล รวมทั้งปรับปรุงกรอบ กฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของ FinTech และมีการกำกับ ดูแลที่เหมาะสม รวมถึงผลักดันให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจใน FinTech และการใช้ FinTech เป็นเครื่องมือสำคัญให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น

ด้านนโยบายระบบการชำระเงิน เป็นผู้ร่วมในการยกร่างและผลักดันแผนยุทธศาสตร์ระบบการชำระเงิน ทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) อำนวยการจัดทำแผนกลยุทธ์ Payment System Roadmap รวมทั้งผลักดันการใช้ Standardized QR Code ในการชำระเงินและการโอนเงิน การพัฒนา โครงการ National Digital Identity (NDID) และการยกร่าง Payment System Act

ด้านการตรวจสอบธนาคารพาณิชย์เคยเป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายตรวจสอบความเสี่ยงและระบบเทคโนโลยี สารสนเทศ รับผิดชอบการตรวจสอบแบบจำลองความเสี่ยงในด้านต่างๆ และการตรวจสอบระบบ เทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารพาณิชย์

ด้านการวางนโยบายกำกับดูแลสถาบันการเงิน เคยเป็นผู้ผลักดันแนวนโยบายบริหารความเสี่ยงและการ กำกับดูแลสถาบันการเงินในหลายด้านที่สำคัญ เช่น แนวนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต และ ด้านตลาด และแนวนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good governance) และการควบคุมภายใน

นายปิ่นสาย สุรัสวดี

ปริญญาตรี

  • เศรษฐศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2536)
  • นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง (พ.ศ. 2545)
  • บัญชีบัณฑิต มหาวิทยาลันสุขทัยธรรมาธิราช (พ.ศ. 2557)

ปริญญาโท

  • MSCs in Economics, University of Glasgow, Scotland (พ.ศ. 2538)

การอบรบพิเศษ

  • หลักสูตรเสนาธิการทหาร รุ่นที่ 55 พ.ศ. 2557
  • การพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และคุณธรรม นบส. 1 รุ่นที่ 84

 

ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์

ปัจจุบัน ดร.ยุทธนา เป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม โดย ดร.ยุทธนา สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายภาษีในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Southern Methodist University ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยสยาม

แนวคิดการพัฒนาระบบ iTAX ได้มาจากงานวิจัยทางวิชาการของ ดร.ยุทธนา ในระดับปริญญาเอกจากความเชื่อที่ว่า ผู้เสียภาษีคือฮีโร่ตัวจริงของประเทศ ผู้เสียภาษีจึงสมควรได้รับบริการภาษีที่ง่าย สะดวก และประหยัดที่สุด และเทคโนโลยีคือเครื่องมือที่สามารถทำให้ภาษีกลายเป็นเรื่องง่าย สะดวก และประหยัดที่สุดได้จริง

นายสุรพล โอภาสเสถียร

นายสุรพล โอภาสเสถียร ปัจจุบันทำงานที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร ในตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ โดยมีภารกิจหลักที่จะผลักดันให้เครดิตบูโรของไทยเติบโต มีมาตรฐานทัดเทียมเครดิตบูโรในต่างประเทศ เป็นประโยชน์สูงสุดต่อระบบสถาบันการเงินของไทย มุ่งเน้นการสื่อสารกับภาคประชาชนให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ที่แท้จริงของเครดิตบูโร รวมถึงการรณรงค์ให้คนไทยยุคใหม่ให้ใส่ใจกับเรื่องวินัยทางการเงิน และยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเครดิตบูโรให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

นายสุรพล มีความสนใจในเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนและภาคครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ทำงานที่เครดิตบูโรได้เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สิน วินัยทางการเงิน การวางแผนทางการเงินและการออม ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหลายหน่วยงาน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันคุ้มครองเงินฝาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สมาคมสถาบันการศึกษาการธนาคารและการเงินไทยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพและสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เป็นต้น

นายสุรพล มุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือให้ SMEs ไทยมีความเข้มแข็งและเข้าถึงสินเชื่อได้โดยเป็นวิทยากรให้กับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติสถาบันการบริหารและจิตวิทยา ฯลฯ และยังเป็นผู้เขียนคอลัมน์ “เศรษฐกิจคิดง่ายๆ” ให้กับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ซึ่งจะเป็นคอลัมน์ที่พูดถึงสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย

นอกจากนี้ นายสุรพล ยังให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่อง FinTech Big Data และ E-KYC เป็นพิเศษ เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจและดำรงชีวิตในยุคปัจจุบันมาก ซึ่งถ้าหากประชาชนชาวไทยไม่เรียนรู้หรือไม่ปรับตัวให้ทันโลกดิจิทัลยุคปัจจุบัน คนไทยก็จะกลายเป็นคนล้าหลัง และก้าวตามคนในสังคมอื่นไม่ทัน ทั้งในด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล และนวัตกรรม

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Chief Economist และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในด้านประสบการณ์ทำงาน เคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีและรองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์ทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมหภาค การจัดทำแบบจำลองทางเศรษฐกิจรายภาคการผลิต และทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคการออมของครัวเรือนไทยให้กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น เคยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้เป็นผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัย ‘เศรษฐกิจมหภาคและนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย’

จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโทจาก University of Warwick สหราชอาณาจักร และระดับปริญญาเอกจาก University of Maryland at College Park สหรัฐอเมริกา

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม

 ดร. พณชิต มีประสบการณ์ด้านการพัฒนากลยุทธ์ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อธุรกิจ ดำเนินกลยุทธ์นวัตกรรมทางสินค้าและบริการ รวมถึงการทำการตลาดเชิงสร้างสรรค์ และการสร้างกลยุทธ์พันธมิตรทางธุรกิจสำหรับธุรกิจประเภท B2B B2C และ B2B2C โดยหน้าที่หลักของ ดร.พณชิต คือการกำหนดทิศทางและร่างแผนที่นำทาง (roadmap) การขับเคลื่อนนโยบาย และการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมให้กับระบบราชการ เช่น Big Data Service , Open Data API เป็นต้น

            ในปี 2016 ดร. พณชิต ได้รับรางวัล Startup Leader of The Year จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอ Thailand Startup White Paper ต่อรัฐบาล เป็นบุคคลสำคัญในการระดมความคิดจาก Startup community ออกมาเป็นมาตรการและการปรับปรุงกฎหมายธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพไทย โดยล่าสุดได้รับเลือกเป็นนายกสมาคม Thailand Tech Startup Association ในปี 2561

นาย Ng Gee Tiong

นาย อึง จี ชอง เป็นผู้อำนวยการด้านการวางแผนและพัฒนาองค์กร Singapore Corporation of Rehabilitative Enterprises (SCORE) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลงานด้านการวางแผนและยุทธ์ศาสตร์ขององค์กร รวมทั้งการสื่อสาร ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการพัฒนาองค์กร นาย อึง มีประสบการณ์ในด้านการฟื้นฟูและการคืนผู้กระทำผิดกลับสู่สังคมมายาวนานกว่า 16 ปี ก่อนหน้านี้เขาได้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านกฎหมายอาญาและผู้กระทำผิดในกระทรวงมหาดไทยของสิงคโปร์ ผู้บัญชาการเรือนจำสิงคโปร์ และผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโสด้านการวางแผนองค์กรของกรมราชทัณฑ์สิงคโปร์อีกด้วย

SCORE ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 1976 (พ.ศ. 2519) ภายใต้กระทรวงมหาดไทย มีบทบาทสำคัญในกรมราชทัณฑ์สิงคโปร์ในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้ประเทศผ่านการบำบัดฟื้นฟู เตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและให้ความช่วยเหลือหลังการปล่อยตัวแก่ผู้กระทำผิดเพื่อให้มีความรับผิดชอบและทำประโยชน์แก่สังคม ภายใต้วิสัยทัศน์การสร้างสะพานแห่งความหวังให้กับผู้กระทำผิดและครอบครัวของพวกเขา SCORE จึงมุ่งเน้นการเพิ่มโอกาสการจ้างงานและเตรียมความพร้อมของผู้กระทำผิดให้เป็นแรงงานของชาติใน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การอบรม การฝึกวิชาชีพ การช่วยเหลือด้านการจ้างงาน การเสริมสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน ในปี พ.ศ. 2559 ผู้พ้นโทษกว่า 96% ได้รับความช่วยเหลือจาก SCORE และทำงานกับนายจ้างและผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนกับ SCORE จำนวนประมาณ 5,000 แห่ง

นางสาวเข็มอัปสร สิริสุขะ

นางสาวเข็มอัปสร สิริสุขะ หรือเชอรี่ สำเร็จการศึกษาระดับปริญาตรี จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ปัจจุบันประกอบอาชีพอิสระและนักรณรงค์สิ่งแวดล้อม อดีตเคยเป็นนักแสดงสังกัดสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มาเป็นเวลา 20 กว่าปี และยังคงทำงานในวงการบันเทิงอยู่บ้างแต่จะคัดสรรงานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับงานด้านสังคมสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ มลพิษขยะ และ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

ต่อมานางสาวเข็มอัปสร ได้เข้าร่วมเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Little Forest Project โดยที่ผ่านมาได้ทำโครงการ Little Help Nepal เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศเนปาลเป็นเวลา 1 ปี ในเรื่องการซ่อมแซมบ้าน มอบปัจจัยสี่ และโรงทานอาหาร โครงการรักทำให้คนตาไม่บอด และโครงการ ปลูกป่า ปลูกคน ปลูกใจ ซึ่งดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ข้าราชการท้องถิ่น และชาวบ้านในชุมชน ในเรื่องการปลูกป่า สร้างฝายเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรให้กับชุมชนนั้นๆ และส่งเสริมเรื่องอาชีพ ซึ่งโครงการนี้ได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และก็ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ นางสาวเข็มอัปสร ยังทำงานเป็นวิทยากรรับเชิญบรรยายเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ธรรมะและการดำเนินชีวิต ให้กับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ อีกด้วย

นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา

คุณพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ โทปรัชญา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ Fletcher School of Law and Diplomacy มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) แมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เรียนเกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศกับสิ่งแวดล้อมโดยหวังว่าจะนำไปต่อยอดโครงการดอยตุงได้

            คุณพิมพรรณ ร่วมทำงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ 16 ปี ซึ่งดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยคำนึงถึงมิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม และประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนและฟื้นฟูป่าที่โครงการพัฒนาดอยตุง ณ จังหวัดเชียงราย โดยน้อมนำแนวพระราชดำริในการพัฒนารวมถึงหลักคิดทางธุรกิจมาใช้ตั้งแต่ต้น เพื่อให้การพัฒนามีส่วนร่วม มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน คุณพิมพรรณ มีความสนใจในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการมีดึงศักยภาพและผสานพลังของทุกภาคส่วนมาช่วยกันสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่สมดุล โครงการพัฒนาดอยตุงฯเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ว่า การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกับธรรมชาติทั้งพื้นที่ 150 ตร.กม. ด้วยการใช้แนวคิดและเครื่องมือทางธุรกิจเป็นไปได้และให้ผลที่ดีจริง วันนี้ ดอยตุงต้องอยู่ให้ได้ในโลกธุรกิจ ซึ่งเรื่องที่ต้องเรียนรู้ คือ ธุรกิจกับการพัฒนาที่ไปด้วยกัน

ดร.อายุตม์ สินธพพันธุ์

ดร.อายุตม์ สินธพพันธุ์ รับราชการที่กรมราชทัณฑ์มาโดยตลอดตั้งแต่สำเร็จการศึกษา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ (ฝ่ายบริหาร) กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งภารกิจหลักของกรม คือ ปกป้องคุ้มครองสังคม ด้วยการควบคุมผู้ต้องขังไม่ให้หลบหนี และการบำบัดฟื้นฟู แก้ไข พัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ให้สามารถกลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคมได้

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดร.อายุตม์ พยายามอย่างยิ่งที่จะนำองค์ความรู้ทางวิชาการด้านอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยามาประยุกต์ผสมผสานสู่การปฏิบัติงานจริงในเรือนจำ โดยมีประสบการณ์การทำหน้าที่ด้านวิชาการและอำนวยการมากมาย ผ่านการเป็นผู้บัญชาการเรือนจำสำคัญๆ มาแล้วหลายแห่งเช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เรือนจำกลางบางขวาง เรือนจำพิเศษธนบุรี เรือนจำกลางนครปฐม เป็นต้น อีกทั้ง เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองแผนงาน ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบทัณฑวิทยา และผู้อำนวยการสำนักทัณฑวิทยา เป็นต้น

ความสนใจเป็นพิเศษของดร.อายุตม์ ในขณะนี้คือ การนำหลักนิติธรรมมาใช้ในกระบวนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง โดยวางแผนที่จะมุ่งยกระดับการพัฒนางานราชทัณฑ์ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานสากลต่างๆ เช่น ข้อกำหนดกรุงเทพ และข้อกำหนดแมนเดลา นอกจากนั้น สิ่งที่อยากทำให้สำเร็จในฐานะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ คือ การพัฒนาบุคลากรของหน่วยงาน ให้มีความเป็นมืออาชีพ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความภาคภูมิใจในการทำงานภายหลังรั้วกำแพงเรือนจำ ซึ่งการดำเนินงานเบื้องต้น คือการเอาใจใส่สวัสดิการเจ้าหน้าที่ และมุ่งเน้นสร้างขวัญกำลังใจเพราะดร.อายุตม์ สินธพพันธุ์เชื่อมั่นว่า หากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีสภาพการดำรงชีพที่ดี และทำงานด้วยความสุข จะเป็นองค์ประกอบหนึ่ง หรือพลังบวกที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ต้องขังอยากพัฒนาเปลี่ยนแปลงตนเอง จนสามารถกลับตนเป็นคนดีได้โดยไม่ยาก

นางสาวชลธิช ชื่นอุระ

นางสาวชลธิช ชื่นอุระ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคนต์ (University of Kent) และ ปริญญาโทด้านนโยบายทางสังคม (Social Policy) จากมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตั้น(Southampton University) สหราชอาณาจักร ในภายหลังได้เข้าทำงานในกระทรวงการยุติธรรมและร่วมดำเนินโครงการ  Enhancing Life of Females Inmates Project (ELFI) ซึ่งต่อมาได้ถูกผลักดันให้มีการร่างและรับรองข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือข้อกำหนดกรุงเทพ (The Bangkok Rules)

นางสาวชลธิช มีประสบการณ์ด้านระบบยุติธรรมทางอาญาในมิติที่เกี่ยวกับเพศภาวะ โดยเฉพาะการลงโทษผู้กระทำผิด ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีภารกิจหลัก ได้แก่ การศึกษาวิจัยด้านการคุมขังและเพศภาวะ ผู้ต้องขังหญิง การอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพของเรือนจำในภูมิภาคอาเซียน ภูมิหลังของผู้กระทำผิดชายและหญิงในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา

นอกจากนี้ นางสาวชลธิช ยังผลักดันโครงการอบรมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อาวุโสอาเซียน (Management of Women Prisoners in the ASEAN Region) ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2559

ดร.กฤษฎา บุญชัย

  ดร. กฤษฎา เป็นนักวิจัยประจำหน่วยปฏิบัติการวิจัยชาวนาร่วมสมัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองเลขาธิการ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา  และผู้ทรงคุณวุฒิในการให้ข้อเสนอแนะต่องานวิจัยท้องถิ่น สกว. ฝ่ายวิจัยท้องถิ่น ทำงานวิชาการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองที่เชื่อมโยงจากระดับโลก สู่ประเทศ และท้องถิ่น อันส่งผลกระทบวิถีดำรงชีพของชุมชนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ เกษตรกรรายย่อย มีเป้าหมายเพื่อบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงที่ก่อปัญหา และชี้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติ ผ่านการติดตามนโยบาย การเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ สังคมในด้านต่างๆ และมุ่งแสวงหาแนวคิด ทิศทางนโยบายใหม่ๆ ที่จะสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง รูปธรรม เช่น การศึกษาการเปลี่ยนแปลงสังคมชาวนาร่วมสมัย และการศึกษาปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อวิถีชีวิต
นอกจากงานวิชาการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและการพัฒนาสิทธิชุมชนแล้ว ดร. กฤษฎา มีความสนใจด้านสังคมที่มีความหลากหลาย ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงอาหาร การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ความเป็นธรรมทางสังคม ความเป็นประชาธิปไตย โดยทั้งหมดมีจุดร่วมอยู่ที่การแสวงหาความรู้ใหม่ และการขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้เข้าจัดทำและเข้าร่วมโครงการ เช่น การศึกษาวิจัยและร่วมผลักดันร่างกฎหมายป่าชุมชน ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน  การศึกษาและติดตามการพัฒนาระบบความมั่นคงอาหารจากระดับท้องถิ่นสู่ประเทศ ร่วมกับแผนความมั่นคงอาหารที่สนับสนุนโดย สสส. ตั้งแต่ปี 2550-ปัจจุบัน  เป็นต้น
ดร. กฤษฎา มีโครงการและกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไปคือ การศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงชาวนา ภายใต้หน่วยปฏิบัติการวิจัยชาวนาร่วมสมัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลกรณ์มหาวิทยาลัย และการศึกษาและขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ กฎหมายสิทธิชุมชนต่อฐานทรัพยากร กฎหมายเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นต้น