Past Events

เวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 10
02 December 2021 การประชุมเวทีสาธารณะแบบ Hybrid ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และผ่าน Zoom Application
เวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 10

“The 10th TIJ Public Forum on the Rule of Law and Development:
Resilient Leaders in Action”

องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้หลักนิติธรรมเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะใช้ไปถึงปี 2573 ทั้งในส่วนของการเป็นเป้าหมายในตัวเอง ภายใต้เป้าหมายที่ 16 ด้านสันติภาพและความยุติธรรม “การส่งเสริมสังคมสงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ” และการเป็นปัจจัยสนับสนุนสำหรับเป้าหมายการพัฒนาอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการรณรงค์และปิดโอกาสให้ทุกประเทศตั้งแต่ระดับผู้นำไปจนถึงประชาชน ตระหนักถึงบทบาทของตนในการตรวจสอบการทำงานของผู้นาประเทศและเจ้าหน้าที่รัฐให้ยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง การที่รัฐบาลของประเทศตรากฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งนั้น สะท้อนถึงการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ ซึ่งหากประชาชนสามารถตรวจสอบกฎหมายและที่มาของกฎหมายได้อย่างถ้วนถี่แล้ว ก็จะสามารถรู้ได้ว่าผู้มีอำนาจนั้นตัดสินใจโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริงหรือไม่

ทั้งนี้ความพยายามในการพัฒนาหลักนิติธรรมไม่เพียงแต่จะครอบคลุมในเรื่องระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมแต่ครอบคลุมอย่างกว้างขวางไปยังทุกแง่มุมของการดำรงชีวิตมนุษย์ ภายใต้แนวคิดว่าหลักนิติธรรมเป็นสิ่งค้ำประกันสิทธิที่เป็นธรรม โปร่งใสและเท่าเทียม สังคมที่มีหลักนิติธรรมจะนาไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองและในทางกลับกัน สังคมที่ปราศจากหลักนิติธรรมจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ 

TIJ จึงได้จัดประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐรวมทั้งนักวิชาการและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาและการอภิปรายเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน จากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศไทยและองค์กรระหว่างประเทศ โดยมุ่งหวังว่าประเด็นต่างๆ ที่อภิปรายแลกเปลี่ยนกันในเวทีสาธารณะครั้งนี้ จะช่วยจุดประกายให้ทุกคนเห็นความสำคัญของหลักนิติธรรม ความเป็นมนุษย์ และความพยายามในการแก้ไขปัญหาสังคมโดยไม่ต้องรอกระบวนการเท่านั้น “ความร่วมมือ และ พลังจากคนทุกคน” จึงเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสะท้อนภารกิจของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะสถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาที่ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายบุคลากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มิได้จำกัดอยู่ในวงของนักกฎหมายหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงยังเป็น Promoter of Changes ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการนำหลักนิติธรรมมาปรับใช้ในสังคม เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม

การพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยี

Open Data & Technology for Better Living 

การพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องของมนุษย์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลให้โลกดิจิทัล (Digital) และโลกกายภาพ (Physical) ที่เคยเปรียบเสมือนว่าเป็นโลกคู่ขนาน ได้มาบรรจบกัน (Phygital) ส่งผลกระทบต่อโลกของเราในทุกมิติ การพัฒนาทางดิจิทัลจะมีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์มากยิ่งขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น โลกดิจิทัลจึงดูเหมือนจะเป็นโลกแห่งความหวังและคำตอบสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดและการเจริญเติบโตของสังคมปัจจุบัน อาทิ ภาวะโลกร้อน การสร้างความยั่งยืน การส่งเสริมความปลอดภัย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงชนบทเข้าสู่ความเป็นเมือง

ความท้าทายในการเข้าถึงศักยภาพของโลกดิจิทัล เริ่มจากข้อมูล (Data) ที่เป็นวัตถุดิบหลัก การเริ่มวางโครงสร้างการจัดเก็บและการบริหารข้อมูล จึงเป็นขั้นตอนที่เป็นรากฐานสำคัญ อีกทั้งต้องใช้ความรู้อย่างมหาศาลในการวิเคราะห์และประมวลผล การเห็นภาพที่เป็นปลายทางเดียวกันของทุกฝ่าย รวมถึงการเข้าร่วมของผู้มีอำนาจตัดสินใจ การร่วมมือของคนทำงานทุกระดับ และการพัฒนากลไกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำโลกดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ในโลกกายภาพได้อย่างเต็มที่

RoLD2020 กลุ่ม T (Transparency) จึงได้นำเสนอแนวคิดที่จะมุ่งผลักดันให้เกิดกลไกการรวมศูนย์ข้อมูลที่จะช่วยการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกดิจิทัลของพื้นที่นำร่อง ให้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและธุรกิจ มีความปลอดภัยสูง และลดโอกาสการเกิดอาชญากรรม โดยได้ใช้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 พื้นที่ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดย “ข้อมูล” ที่เก็บรวบรวมหรือค้นหาเพิ่มเติมยังมีความท้าทายอย่างยิ่งทั้งในด้านความถูกต้องของการได้มาซึ่งข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการนำไปใช้เป็นเครื่องมือช่วยการตัดสินใจของผู้มีอำนาจอีกด้วย

เกราะป้องกันของกลุ่มเปราะบาง

Finding the Invisible Child : ONE LOVE Project

RoLD2020 กลุ่ม I (Integrity) เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มเปราะบางที่เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดหรืออาจตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งถูกสังคมมองว่าเป็นเด็กที่ถูกลืม (Invisible Child) ปัญหาของเด็กกลุ่มนี้เปรียบเสมือน “ระเบิดเวลา” ลูกใหญ่ของสังคมไทย  จึงนำมาซึ่งแนวคิด “เชื่อมั้ย พวกเรา เปลี่ยนโลกได้ ONE LOVE PROJECT” ที่มุ่งศึกษาปัญหาและวิเคราะห์แนวทางแก้ไขปัญหาจากพื้นที่ต้นแบบในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กระยอง ที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อนำไปสู่การสร้างเกราะป้องกันมิให้เด็กกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอันเป็นแนวปฏิบัติที่ดีตามมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา

ทั้งนี้ จากการศึกษาผ่านเครื่องมือต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย ข้อค้นพบสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากการค้นหาเครื่องมือ วิธีการ พื้นที่ปลอดภัย เพื่อสร้างโอกาสและปลดล็อคศักยภาพของเด็กกลุ่มนี้ โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลางแล้ว การเสริมสร้างขวัญกำลังใจรวมทั้งการพัฒนาทักษะและเครื่องมือที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็ก รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนในการแก้ปัญหา จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยถอดสลัก “ระเบิดเวลา” ลูกนี้ได้อย่างทันท่วงที มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

#คิดต่างไม่เห็นเป็นไร

LET’S GET TOGETHER

เราจะทำยังไง ให้คนในสังคมหันหน้าคุยกันได้? ช่วงที่ผ่านมานี้ ความขัดแย้งระหว่างคนต่างวัย ต่างความคิดในสังคมไทยก่อตัวขึ้น จากปรากฏการณ์เด็กนักเรียนนักศึกษาออกมาเดินเรียกร้องตามท้องถนน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้นเกิดขึ้นในกลุ่มบุคคลที่ต่างช่วงวัยกัน ความขัดแย้งทวีความรุนแรงด้วยการด่าทอกันและเกิดปรากฏการณ์“ทัวร์ลง” หรือ “ล่าแม่มด” ในโลกโซเชียล จนเกิดสภาวะที่ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องการรับฟังซึ่งกันและกัน นำไปสู่สภาวะที่อึดอัดและเกิดความไม่ไว้วางใจกันในสังคม จึงมีการคำถามว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งเหล่านี้จะลดลงหรือดำรงอยู่ต่อไป จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความร้าวลึกหรือความเกลียดชังมากขึ้นกับคนต่างวัยในสังคม จึงเป็นที่มาของการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจประเด็นปัญหาและลักษณะรูปแบบของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น 


RoLD2020 กลุ่ม J (Justice) เชิญชวนทุกท่าน ร่วมค้นหาจุดร่วมที่แท้จริงของคู่ขัดแย้ง (Anatomy of Conflict) ผ่านเครื่องมือแบบทดสอบ “เกมทายใจ” คุณมีการแสดงออกเพื่อเรียกร้องประเด็นทางสังคมอย่างไร เพื่อให้คุณลองเดินทางสำรวจความรู้สึก ความเห็นของตนเองต่อสถานการณ์หนึ่ง จากนั้นให้เปลี่ยนบทบาท ลองจินตนาการว่าถ้าคุณเป็นคนรุ่นอื่นๆ (ไม่ว่าจะเด็กกว่า หรือแก่กว่า) คุณจะคิดเห็นกับเรื่องเดียวกันนี้อย่างไร โดยผลจากการสำรวจจะมีการพัฒนาเป็น Data Visualization และต่อยอดเป็นคู่มือ The 4E Guidebook เป็นเครื่องมือในการลดช่องว่างความขัดแย้งของคนในสังคม เพื่อสร้างความเข้าใจ (Empathy) สะท้อนความคิดของคู่คิดต่าง รวมถึงมีมุมมองการรับรู้ปัญหาความขัดแย้งที่เปลี่ยนไป เราจะสร้างความปรองดองในความแตกต่าง ตั้งแต่คนระดับครอบครัว คนต่างความคิด และคนต่างเจน ให้เราอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน แล้วประเทศไทยจะเดินหน้าต่อได้