งานนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมแห่งอาเซียน:
หลักนิติธรรม ข้อมูลและอนาคตของระบบยุติธรรมในอาเซียน
องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้หลักนิติธรรมหรือ Rule of law เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่จะใช้ไปถึงปี 2573 โดยมีความสำคัญในลักษณะที่เป็นทั้งเป้าหมายในตัวเอง ภายใต้เป้าหมายที่ 16 “การส่งเสริมสังคมสงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ” และเป็นทั้งปัจจัยสนับสนุนสำหรับเป้าหมายการพัฒนาอื่นๆ ทั้งหมดด้วยเชื่อว่าประเทศใดและสังคมใดที่ขาดการยึดหลักนิติธรรมเป็นพื้นฐานในการพัฒนาแล้ว จะทำให้สาขาการพัฒนาอื่นๆ ไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้อย่างยั่งยืน ในประเทศไทย หลักนิติธรรมยังกลายเป็นหลักการพื้นฐานซึ่งกำหนดอยู่ในบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยมุ่งหวังให้สังคมมีการปกครองที่กฎหมายเป็นใหญ่และเป็นธรรม อำนวยความยุติธรรมให้คนในสังคมอย่างเสมอภาค ด้วยความเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
The World Justice Project (WJP) องค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร ได้คิดค้นดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of law index) เพื่อเป็นเครื่องมือในการวัดและประเมินความมีนิติธรรมของแต่ละประเทศในแต่ละปี โดยภาครัฐสามารถใช้ผลการประเมินดังกล่าวในการศึกษาและวางแผนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักนิติธรรม ขณะที่ภาคเอกชนสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบการพิจารณาเพื่อลงทุนทางธุรกิจ ซึ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น (22) กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้กำหนดให้ดัชนี้ชี้วัดหลักนิติธรรมเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายแผนดังกล่าวไว้ด้วย
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับความสามารถของประเทศภายใต้สังคมที่มีหลักนิติธรรม ด้วยแนวคิดการส่งเสริมการทำงานแบบมีบูรณาการ และแนวคิดเชิงนวัตกรรมสำหรับการสร้างความยุติธรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Collaborative and Innovative Justice for All) เพราะเข้าใจถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดว่าสถานการณ์หลักนิติธรรมทั่วโลกอยู่ในสภาวะถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเซียนที่ตกต่ำรุนแรงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก สะท้อนให้เห็นความเสี่ยงที่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะถูกละเมิด และการเข้าถึงความยุติธรรมที่หดตัวลง อันเป็นการสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรมที่เป็นพื้นฐานของสังคมที่สงบสุข และจะส่งผลสืบเนื่องไปยังมิติด้านการเศรษฐกิจ สังคม ต่อไปในภายภาคหน้า ดังนั้น เพื่อส่งสัญญาณให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเห็นความสำคัญในการผลักดันประเด็นการเสริมสร้างหลักนิติธรรมให้เข้มแข็ง TIJ ร่วมกับ WJP จึงได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมแห่งอาเซียน (ASEAN Justice Innovation) ขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาค ภายใต้หัวข้อ “หลักนิติธรรม ข้อมูล และอนาคตของระบบยุติธรรมในอาเซียน” ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2566 ประกอบด้วยกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่หลากหลายตลอดทั้งสามวัน อาทิ การเสวนา อภิปราย ระดมสมองกลุ่มย่อย ประชุมเชิงปฏิบัติการ และการจัดแสดงนิทรรศการ เพื่อสร้างให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองที่รอบด้านทั้งแนวกว้างและแนวลึกเกี่ยวกับหลักนิติธรรม ข้อมูลดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม ตัวอย่างนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมในอาเซียน เพื่อสื่อสารทั้งประเด็นโอกาสและข้อท้าทายในการผลักดันหลักนิติธรรมผ่านนวัตกรรมในบริบทของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งยังเป็นเวทีแรกในการรวมพลังเครือข่ายนักนวัตกรด้านความยุติธรรมรุ่นใหม่ในอาเซียน (Justice Innovators) อีกด้วย
วันที่ 16 สิงหาคม 2566: การขับเคลื่อนการปฏิรูปหลักนิติธรรมที่อาศัยข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ (Data and Evidence-based Approach towards Rule of Law Reform)
ผู้เข้าร่วมงานจะได้เรียนรู้แง่มุมต่าง ๆ ของสถานการณ์หลักนิติธรรมในประเทศไทย กรอบแนวคิดการประเมินพัฒนาการด้านหลักนิติธรรมด้วยดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ WJP แนวคิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลผ่านมุมมองที่หลากหลายของผู้เข้าร่วม รวมถึงร่วมหารือแนวทางการวางแผนยุทธศาสตร์ในการปรับปรุงคะแนนดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index Score) โดยเริ่มต้นจากประเด็นสำคัญของประเทศไทย อาทิ ปัญหาคอร์รัปชัน การปฏิรูปกฎหมายไทยด้วยกิโยตินทางกฎหมาย การเปิดเผยข้อมูลและนโยบายรัฐบาลเปิด และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
เพราะเราเชื่อว่าการเก็บข้อมูลความต้องการด้านความยุติธรรมของประชาชน ควบคู่ไปกับการมีมาตรวัดความคืบหน้าการทำงานที่ส่งเสริมหลักนิติธรรมในระดับเป้าหมายอย่างเป็นระบบ เป็นสิ่งสำคัญในการยกระดับคุณภาพการให้บริการยุติธรรมที่ทั้งสามารถตอบโจทย์ปัญหาของประชาชน สร้างความเชื่อมั่นในระยะยาว และมองเห็นแนวทางในการทำงานร่วมกันได้อย่างแท้จริง
รูปแบบงาน: สัมมนาและการประชุมระดมสมองกลุ่มย่อย (ภาษาไทย)
วันที่ 17 สิงหาคม 2566: การส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางในอาเซียน (Enhancing People-Centered Justice Innovations in ASEAN)
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าแนวคิดของการสร้างนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมจะเป็นแนวคิดที่น่าสนใจและเติบโตขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แต่ในประเทศไทยหรือแม้กระทั่งประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศที่เอื้อให้ระบบยุติธรรมเปิดรับความเปลี่ยนแปลงและแนวคิดใหม่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งภายในงานวันนี้จะเปิดพื้นที่ให้นักนวัตกรด้านความยุติธรรมที่ทำงานอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน ถอดบทเรียนและความท้าทาย เพื่อร่วมกันวางแผนการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบนิเวศสำหรับการสร้างนวัตกรรมด้านความยุติธรรมที่ยั่งยืนต่อไป
รูปแบบงาน: งานประชุมเชิงปฏิบัติการ (ภาษาอังกฤษ)
วันที่ 18 สิงหาคม 2566: อนาคตของความยุติธรรม (The Future of Justice)
เพื่อให้ระบบยุติธรรมสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างเท่าทัน วิธีคิดในการทำงานของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจากการคิดแบบแก้ปัญหากับความท้าทายในปัจจุบัน เป็น การคิดแบบอนาคตศาสตร์ (Future Thinking) มองถึงฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมรับมือกับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมทั้งวาดภาพอนาคตที่ต้องการ โดยผู้เข้าร่วมงานจะได้มีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ ด้วยเครื่องมือที่จะช่วยให้เกิดแนวคิดเชิงอนาคตศาสตร์ ออกแบบความเป็นไปได้ของระบบยุติธรรมในภูมิภาคอาเซียน และหารือแนวทางการเตรียมพร้อมเพื่อเปิดทางสู่อนาคตของความยุติธรรมที่ต้องการ
นอกจากนั้น ในช่วงบ่าย จะเป็นการเปิดประสบการณ์โลกอนาคตด้วยกิจกรรมพิเศษ 12 Beauty of Freedom – NFT x Prison Project หรืองานประมูลศิลปะภาพวาด NFT บนโลกดิจิทัลที่สร้างสรรค์โดยผู้ต้องขังผ่านโครงการ “พัฒนาอาชีพแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน” ที่ TIJ เชิญชวนศิลปิน NFT ช่วยเปิดประสบการณ์เรียนรู้ตนเองผ่านงานศิลปะให้กับพี่ๆผู้ต้องขังจากเรือนจำกลางชลบุรี และเรือนจำพิเศษธนบุรีซึ่งผู้เข้าร่วมงานช่วงนี้จะได้รับฟังเรื่องราวของแต่ละภาพศิลปะไปพร้อมกัน
รูปแบบงาน:
เช้า งานประชุมเชิงปฏิบัติการ (ภาษาอังกฤษ)
บ่าย งานเปิดตัวและประมูล 12 Beauty of Freedom: The NFT Collection (ภาษาไทย/ภาษาอังกฤษ)
TIJ และ WJP คาดหวังให้งานนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมแห่งอาเซียนในครั้งนี้ จะช่วยจุดประกายเริ่มต้นสร้างเครือข่ายพันธมิตรจากหลากหลายภาคส่วนทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน ผู้ซึ่งมองเห็นความสำคัญของการเสริมสร้างหลักนิติธรรมให้เป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศผ่านความร่วมมือ การสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมอย่างต่อเนื่องต่อไป
(ข้อมูล ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2566)